อาการขาดธาตุอาหาร

จาก Cassava
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

พืชที่แสดงความผิดปกติต่างมีสาเหตุหลัก 2 สาเหตุคือการแสดงอาการโรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตเข้าทำลาย และการแสดงอาการของโรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งโรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตจะมีสาเหตุดังเช่น การขาดปุ๋ย ขาดธาตุอาหารรอง สภาพดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่างมากเกินไป หรือดินเปรี้ยว สภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือเย็นจัด ตลอดจนความร้อนหรือแสงมากหรือน้อยเกินไป รวมไปถึงการขาดออกซิเจน เกิดมลภาวะหรืออากาศเป็นพิษ ทั้งหมดล้วนส่งผลให้พืชเจริญเติบโตผิดปกติมีขนาดเล็กและโตช้า

การขาดธาตุอาหารในพืช ตามปกติขาดธาตุอาหารรอง (Secondary macronutrients) และธาตุอาหารเสริม (Micronutrients) ต่างๆ โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่ธาตุอาหารหลัก (Primary macronutrients) ได้แก่ธาตุ N P K ซึ่งมีอยู่ในดินเพียงพอต่อความต้องการของพืชอยู่แล้ว แต่อยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยพืชที่ปลูกในดินที่เป็นด่างจัด มักมีปัญหาเรื่องการขาดธาตุแมงกานีส ในขณะที่ปลูกในดินที่มีความเป็นกรดจัด จะมีเกลือของแมงกานีสและอลูมิเนียมอยู่ในรูปที่พืชเอาไปใช้ประโยชน์ได้ แต่มากจนเกินไปซึ่งอาจทำให้เป็นพิษต่อพืชได้ (พิสุทธิ์. 2563)[1]

ลักษณะการขาดธาตุอาหาร[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การขาดธาตุไนโตรเจน (N)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ลักษณะอาการขาดธาตุไนโตรเจนในมันสำปะหลัง (CIAT, 2014)[2]

ธาตุไนโตรเจนเป็นธาตุที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต และสร้างโปรตีน หากได้รับมากจนเกินไป พืชจะมีอาการอ่อนแอ อวบน้ำ โรคและแมลงสามารถเข้าทำลายได้ง่าย ในขนะเดียวกันหากได้รับไนโตรเจนไม่เพียงพอส่งผลให้พืชมีลักษณะแคระแกรน ใบแก่จะมีสีเหลืองและร่วง (สุเทพ, ม.ป.พ.[3]) โดยในมันสำปะหลังที่ขาดไนโตรเจน อาจจะไม่แสดงอาการให้เห็น แต่ต้นจะเตี้ยและโตช้ากว่าปกติมันสำปะหลังบางพันธุ์ที่ขาดธาตุ N อย่างรุนแรงจะแสดงอาการใบสีซีดอ่อนลงเล็กน้อย อาการใบซีดค่อนข้างสม่ำเสมอทั่วไปทั้งต้นการขาด N ที่รุนแรงมักจะเกิดในดินทรายที่มีอินทรียวัตถุต่ำแต่ก็อาจจะพบในดินที่เป็นกรดมากๆ และมีอินทรียวัตถุสูงได้เช่นกัน ทั้งนี้ สาเหตุหลักเป็นเพราะว่าอัตราการสลายตัวของอินทรียวัตถุช้าซึ่งต่อไปจะเกิดขบวนการไนโตรเจนมินเนอรัลไลเซชั่น (N mineralization)

การขาดธาตุฟอสฟอรัส (P)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ลักษณะอาการขาดธาตุฟอสฟอรัส (Grundon 1987)[4]

ธาตุฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่ช่วยส่งเสริมการออกดอกผล การเจริญของรา การใส่ปุ๋ยชนิดนี้มากเกินไปจะส่งผลไปลดความเป็นประโยชน์ของจุลธาตุบางตัวในดินเช่น สังกะสี เหล็ก ส่งผลให้พืชขาดจุลธาตุเหล่านี้ได้ ถ้าพืชได้รับฟอสฟอรัสไม่เพียงพอจะทำให้การออกดอกผลลดน้อยลง พืชแคระแกรนและใบแก่มักจะมีสีเหลืองหรือสีอื่นปะปน (สุเทพ, มปป.)[3]  ในมันสำปะหลังการขาดฟอสฟอรัสจะไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็นชัดเจน แต่มันสำปะหลังจะแสดงอาการต้นเตี้ยสั้น และอ่อนแอ ลำต้นผอมเล็ก และใบจะแคบกว่าต้นปกติ ผลผลิตหัวมันสำปะหลังอาจลดลงอย่างรุนแรงจากการขาดุฟอสฟอรัส ในกรณีที่รุนแรงมากๆ ใบล่างๆ ของพืชจะเป็นสีเหลืองคล้ำหรือสีส้ม ซึ่งต่อไปจะเป็นแผลเนื้อตายและเหี่ยวแห้งหลุดร่วงไป ในกรณีที่พืชไม่แสดงอาหารขาดฟอสฟอรัส ที่ชัดเจน การวินิจฉัยสามารถดูได้จากการวิเคราะห์ดินหรือการวิเคราะห์พืช

การขาดธาตุโพแทสเซียม (K)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

แสดงอาการขาดธาตุโพแทสเซียมในมันสำปะหลัง (Susan, 2010)[5]

ธาตุโพแทสเซียมเป็นธาตุที่ช่วยในการสร้างและสะสมอาหาร (สร้างผล สร้างหัว) และทำให้พืชมีคุณภาพดี การขาดโพแทสเซียมจะทำให้ความสูงของต้นและความแข็งแรงลดลง ข้อปล้องจะสั้นลงอย่างเห็นได้ชัดลำต้นส่วนบนจะแข็งเป็นเนื้อไม้ทำให้ลำต้นโตแบบหักซิกแซก โดยทั่วไปลำต้นจะแน่นและแตกกิ่งก้านมากทำให้ทรงต้นแผ่กว้าง (วัลลีย์, 2551) [6]ในมันสำปะหลังมักจะไม่แสดงอาการขาดโพแทสเซียมที่ชัดเจน ในสภาพไร่มันสำปะหลังใบมักจะไม่แสดงอาการซีดหรือ สีเขียวอ่อน แต่ใบบนๆ จะเล็กและใบล่างๆ อาจจะเหลืองและขอบใบแห้ง แผลแห้งตายจากการขาดโพแทสเซียม จะเป็นช่องทางให้เชื้อโรคโดยเฉพาะโรคแอนแทรกโนสเข้าทำลายพืช ใบล่างๆ อาจจะมีอาการขอบใบม้วนขึ้นคล้ายกับการขาดน้ำในหน้าแล้ง โดยทั่วไป การขาดโพแทสเซียม จะเกิดขึ้นได้ในดินทรายที่มีปริมาณสำรองของโพแทสเซียมต่ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแปลงที่ปลูกมันสำปะหลังติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี

การขาดธาตุแคลเซียม (Ca)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ลักษณะอาการขาดธาตุแคลเซียม (มาลินี และ วิลาวัลย์, 2558)[7]

ธาตุแคลเซียมเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ ช่วยในการแบ่งเซลล์พืช โดยเฉพาะในส่วนยอดหรือปลายรากจะพบว่ามีแคลเซียมแพคเทต (Calcium pectate) ช่วยในการผสมเกสร การงอกของเมล็ด ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของรากพืช (วัลลีย์, 2551)[6] อาการขาดแคลเซียมมักจะไม่ค่อยพบในแปลงมันสำปะหลัง แต่ในกรณีดินเป็นกรดสูงและปริมาณ แคลเซียม ที่เป็นประโยชน์ต่ำพืชจะตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ยแคลเซียม การขาดแคลเซียมจะทำให้รากลดการเจริญเติบโต ดังนั้น ต้นจะมีขนาดเล็กและเตี้ยกว่า และระบบรากจะไม่แตกและรากหยาบ ในสภาวะการขาดแคลเซียมอย่างรุนแรงใบแก่จะยังคงเขียวเป็นปกติแต่ปลายใบอ่อนจะม้วนลงและอาจแห้งตาย การขาดแคลเซียมจะมีผลกระทบต่อจุดเจริญเติบโตทั้งส่วนยอดและราก

การขาดธาตุแมกนีเซียม (Mg)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

แสดงอาการขาดธาตุแมกนีเชียม

ธาตุแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบของส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช และคลอโรฟิลล์ซึ่งทำหน้าที่ในการสังเคราะห์แสงส่งเสริมการดูดกินและนำพาฟอสฟอรัสขึ้นสู่ลำต้น ช่วยในการสังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมัน มีส่วนช่วยในการสร้างน้ำมันเมื่ออยู่ร่วมกับกำมะถันนอกจากนี้ยังทำหน้าที่หลายอย่างที่มีความสำคัญต่อการหายใจของเซลล์พืช (วัลลีย์, 2551)[6]  อาการขาดธาตุแมกนีเชียมในมันสำปะหลังจะไม่เหมือนการขาดธาตุอื่นๆ คืออาการจะสังเกตเห็นได้ง่ายมาก ถ้าขาดแมกนีเชียม ใบล่างๆ ของมันสำปะหลังจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองบนใบและขอบใบ ทำให้เห็นเส้นใบสีเขียวชัดเจนบนใบสีเหลืองคล้าย “ก้างปลา” อาการนี้เรียกว่า“ใบเหลืองระหว่างเส้นใบ” หรือ “คลอโรซีส” (chlorosis) อาการใบเหลืองจะเริ่มที่ใบแก่ที่สุดก่อนแล้วทยอยเหลืองขึ้นไปลำต้นส่วนบน แต่ใบบนๆ จะไม่แสดงอาการนี้ ความสูงของต้นมักจะไม่ลดลงและใบจะไม่ผิดรูปร่างการขาดแมกนีเชียมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในดินที่เป็นกรดจัด

การขาดธาตุซัลเฟอร์ (S)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

แสดงอาการขาดธาตุซัลเฟอร์ (มาลินี และ วิลาวัลย์, 2558)[7]

ธาตุซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบของโปรตีน กรดอะมีโน วิตามิน และโคเอนไซด์ เอ ในพืช ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลด์และน้ำมัน ควบคุมโครงสร้างของโปรตีนในพืช นอกจากนี้ยังมีผลทางอ้อมต่อการแบ่งเซลล์และการเจริญเติบโตส่วนยอดของพืช (วัลลีย์, 2551) [6]การขาดซัลเฟอร์ ในมันสำปะหลังจะมีอาการใบบนๆ จะเหลืองสม่ำเสมอเป็นรูปแบบคล้ายกับอาการขาดไนโตรเจนภายใต้สถานการณ์ที่รุนแรงพืชจะเหลืองทั่วไปทั้งต้นจากการสูญเสียคลอโรฟิลล์ และใบจะยังคงเล็ก

การขาดธาตุโบรอน (B)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ลักษณะอาการขาดธาตุโบรอน (มาลินี และ วิลาวัลย์, 2558)[7]

เป็นธาตุที่จำเป็นต่อการแบ่งเซลล์และออกดอกของพืช ช่วยในการสร้างแป้ง น้ำตาล และโปรตันในพืช ช่วยในการคายน้ำ การดูดใช้ไนโตรเจน และแคลเซียมได้ดีขึ้น ทำหน้าที่เป็นตัวปรับสัดส่วนระหว่างโพแทสเซี่ยมและแคลเซียมในพืช นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในกระบวนการ Metabolism ของคาร์บอน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และฮอร์โมนอีกด้วย (วัลลีย์, 2551)[6] อาการขาดธาตุโบรอนมักจะไม่ค่อยพบในไร่มันสำปะหลัง เนื่องจากโบรอนจะไม่เคลื่อนย้ายภายในต้น (เช่นเดียวกับแคลเซียม) อาการที่ขาดโบรอนรุนแรงจะพบได้บริเวณจุดเจริญของรากและยอด ต้นจะเตี้ยสั้นรากฝอยจะหนาและสั้น ใบที่ส่วนยอดจะเล็กผิดรูปและเป็นสีเขียวเข้มข้อส่วนบนของลำต้นจะสั้นมาก บางครั้งก้านใบและลำต้นจะมียางสีน้ำตาลไหลซึมออกมาและจะเปลี่ยนไปเป็นจุดสีน้ำตาล ในกรณีที่ขาดไม่รุนแรงต้นมันสำปะหลังจะมีอาการใบสีอ่อนเป็นจุดๆ เนื่องจากการสูญเสียคลอโรฟิลล์โดยเป็นบนใบกลางๆ หรือใบล่างๆ

การขาดธาตุเหล็ก (Fe)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

แสดงลักษณะการขาดธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็กเป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์หลายชนิด มีความสำคัญในการสร้างคลอโรฟิลล์ช่วยในการสร้างแป้งและน้ำตาล เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) และรีดักชัน (Reduction) ช่วยในการหายใจและดูดธาตุอาหารอื่นๆ นอกจากนี้ยังช่วยสังเคราะห์โปรตีนที่มีอยู่ในเซลล์พืชได้อีกด้วย (วัลลีย์, 2551) [6]อาการขาดเหล็กในมันสำปะหลังจะมีลักษณะใบเหลืองสม่ำเสมอทั่วไปทั้งต้นโดยที่ตัวใบไม่เปลี่ยนรูปร่างในกรณีที่ขาดรุนแรงใบบนๆ และก้านใบอาจจะเป็นสีขาวเกือบทั้งหมดปัญหาการขาดเหล็กนี้จะพบได้เฉพาะในดินที่เป็นด่างหรือดินที่สลายตัวจากหินปูน หรือพบเป็นจุดๆ บริเวณที่เป็นจอมปลวกเก่าในดินกรด อาการขาด เหล็ก จะแสดงให้เห็นช่วงฤดูแล้ง

การขาดธาตุสังกะสี (Zn)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

อาการขาดธาตุสังกะสี  

ธาตุสังกะสีเป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์หลายชนิดในพืชช่วยสังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิน (Auxins) เพื่อการเจริญเติบโตของพืชช่วยสร้างโปรตีนและคลอโรฟิลในพืช กระตุ้นให้มีการสร้างแป้งและน้ำตาลช่วยในการยืดตัวของเซลล์พืช (วัลลีย์, 2551)[6] อาการขาดธาตุมันสำปะหลังเป็นพืชที่ไวต่อการขาดสังกะสีโดยเฉพาะในช่วงแรกของการเจริญเติบโต อาการขาดสังกะสีจะปรากฏเป็นจุดขาวหรือเส้นขาวบนใบอ่อนเมื่ออาการรุนแรงใบทั้งหมดจะเป็นสีซีดขาว ความหยักของใบจะเล็กและ       แคบกว่า และใบจะชี้ออกไปจากลำต้น ใบล่างจะเป็นแผลจุดสีขาวหรือ      น้ำตาล ต้นจะไม่โตและอ่อนแอ ต้นที่แสดงอาการเริ่มขาดสังกะสีอาจจะกลับมาตั้งตัวได้หลังจากที่ระบบรากเจริญเติบโตดีแล้วและรากได้รับเชื้อราไมโคไรซ่าในดินแล้วถ้าขาดรุนแรงมันสำปะหลังอาจตายหรือให้ผลผลิตต่ำมากๆ (มาลินี และ วิลาวัลย์, 2558[7])

วิธีการแก้ไขอาการขาดธาตุ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. ถ้าพืชขาดธาตุอาหารหลักพวก ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม นิยมใส่ปุ๋ยให้ทางดิน เพราะพืชต้องการมาก การให้ปุ๋ยทางใบโดยปกติจะช่วยเสริมให้สามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีในช่วงแรกๆ ปุ๋ยที่ใช้ควรเลือกสูตรให้เหมาะสมตามลักษณะที่พืชขาด ตัวเลขสูตรปุ๋ย เช่น 30-20-10 หมายถึงปริมาณของ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม ในปุ๋ยนั้นตามลำดับ
  2. ถ้าพืชแสดงอาการขาด แคลเซียม หรือ แมกนีเซียม ซึ่งโดยปกติจะพบในดินที่เป็นกรด แก้ไขได้โดยการใส่ปูน ถ้าขาดแคลเซียมอาจใช้ปูนมาร์ล ปูนขาวหรือหินปูนบด แต่ถ้าขาด แมกนีเซียม ด้วยควรใช้ปูนโดโลไมต์ เพราะมีทั้ง แคลเซียม และ แมกนีเซียม
  3. ถ้าพืชขาดจุลธาตุ ควรปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน pH ให้มีค่าประมาณ 5.5-7 เพราะดินในสภาพนี้จุลธาตุจะละลายออกมาให้พืชใช้ได้พอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป แต่ถ้าดินมีธาตุเหล่านี้น้อยนิยมเพิ่มในรูปของปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เพราะปุ๋ยพวกนี้มีธาตุเหล่านี้อยู่ด้วย อย่างไรก็ตามการใส่ปุ๋ยให้ทางดินอาจจะช้าแก้ไขได้ไม่ทันการ ดังนั้นอาจมีการฉีดพ่นให้ทางใบด้วย ในปัจจุบันมีปุ๋ยที่มีพวกจุลธาตุผสมอยู่มาก เช่น ปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยเกร็ดละลายน้ำ แต่ถ้าทราบว่าขาดจุลธาตุเพียง 1 หรือ 2 ตัว ก็อาจหาซื้อปุ๋ยที่มีเฉพาะธาตุนั้นๆ มาฉีดให้ทางใบก็ได้ เช่น เหล็กคีเลทให้ธาตุเหล็ก แมงกานีสซัลเฟตให้ แมงกานีสและกำมะถัน ซิงซัลเฟตให้สังกะสีและกำมะถัน คอปเปอร์ซัลเฟตให้ทองแดงและกำมะถัน โบแร็กซ์ให้โบรอน แอมโมเนียมโมลิบเดทให้โมลิบดินัมและไนโตรเจน และอื่นๆ อีกมาก (108 พรรณไม้, 2021[8] )

อ้างอิง[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. พิสุทธิ์ เอกอำนวย.  2563. โรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ. บริษัททอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, กรุงเทพฯ.
  2. CIAT.  2014. How to get high and stable yields in cassava? New and better varieties. Jakarta, Indonesia. https://www.slideshare.net/FOODCROPS/2013-ceballos-new-and-better-cassava-varieties, 7 June 2021.
  3. 3.0 3.1 สุเทพ ทองแพ.  ม.ป.พ. ดิน-ปุ๋ย-น้ำ. เอกสารประกอบการอบรมดิน-ปุ๋ย-น้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพ. 108 พรรณไม้.  2021. พืชจะแสดงอาการอย่างไรเมื่อขาดธาตุ.  ที่มา: https://www.panmai.com/Tip/Tip02/Tip02.shtml. วันที่ 20 พฤษภาคม 2564.
  4. Grundon, N.J. 1987. Hungry Crops Department of Primary Industries, Brisbane.
  5. Susan John, K., G. Suja, M.N. Sheela, and C.S. Ravindran. 2010. Potassium: The Key Nutrient for Cassava Production, Tuber Quality and Soil Productivity - An Overview. Journal of Root Crops 36:132-144.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 วัลลีย์ อมรพล. 2551. เอกสารวิชาการ เรื่อง ธาตุอาหารพืช และการใช้ปุ๋ยกับมันสำปะหลังในภาคตะวันออก. กรมวิชาการเกษตร. กรุงเทพ.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 มาลินี พิทักษ์ และ วิลาวัลย์ วงษ์เกษม.  2558.  การจัดการมันสำปะหลังอย่างยั่งยืนในเอเชียจากงานวิจัยสู่การปฏิบัติ. เวียดนาม. แปลจาก H. Reinhardt and M.A. Tin. Centro International de Agricultura Tropical (CIAT). คาลิ, โคลัมเบีย.
  8. 108 พรรณไม้. 2021. พืชจะแสดงอาการอย่างไรเมื่อขาดธาตุ. ที่มา: https://www.panmai.com/Tip/Tip02/Tip02.shtml. วันที่ 20 พฤษภาคม 2564