คุณภาพต้นพันธุ์

การเลือกใช้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ คุณภาพดี ปราศจากแมลงศัตรูพืช และโรคระบาด เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ นอกเหนือจากการเลือกใช้วิธีการเขตกรรมต่าง ๆ เนื่องจากท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์จะมีผลต่อความงอกและความอยู่รอดของมันสำปะหลังในแปลง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายดังกล่าว จึงควรตรวจสอบความงอกภายใน 2 - 3 สัปดาห์หลังปลูกแล้วเร่งปลูกซ่อมทันที การปลูกซ่อมช้าจะทำให้ต้นจากท่อนพันธุ์ที่ปลูกซ่อมเจริญเติบโตไม่ทันต้นที่ปลูกก่อน ส่งผลให้ผลผลิตต่อพื้นที่ลดลง อย่างไรก็ตามการปลูกซ่อมต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมทั้งด้านต้นพันธุ์และแรงงาน จึงควรเลือกใช้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุดมาปลูกเพื่อให้มีความงอกและความอยู่รอดสูงสุด ข้อควรพิจารณาในการเลือกใช้ต้นพันธุ์คุณภาพดี มีดังนี้

อายุต้นมันสำปะหลังแก้ไข

ต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ควรมีอายุประมาณ 8 – 14 เดือน อาจสังเกตได้จากสีของลำต้นที่เปลี่ยนเป็นสีเข้ม หลีกเลี่ยงการใช้ต้นพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคหรือแมลงระบาด หรือตรวจสอบว่าต้นพันธุ์ไม่มีโรคและแมลงติดมาด้วย[1] เช่น โรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อไวรัสในสกุล Begomovirus และมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะ สังเกตุได้จากใบและลำต้น ใบด่างและใบหงิก เสียรูปทรง อาการด่างมีหลายแบบ เช่น ด่างเขียวซีดสลับเขียวเข้ม ด่างเหลือสลับเขียว ใบหงิก หรือ หงิกเหลือง ใบย่อยบิดเบี้ยวหงิกงอ โค้งเสียรูปทรง ใบอ่อนและใบที่เจริญใหม่มีขนาดเล็กลง ยอดหงิก ต้นแคระแกร็น[2] แต่ละส่วนของต้นพันธุ์มันสำปะหลังมีเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดไม่เท่ากัน โดยพบว่าท่อนพันธุ์จากส่วนกลางของต้นจะมีเปอร์เซ็นต์อยู่รอด 69 – 84 เปอร์เซ็นต์ แต่ท่อนพันธุ์จากส่วนปลายของลำต้นมีเปอร์เซ็นต์อยู่รอดเพียง 35 เปอร์เซ็นต์[3] ต้นพันธุ์ที่มีอายุน้อยกว่า 8 เดือน เมื่อนำไปปลูกในแปลงจะสูญเสียความชื้นง่าย มีความงอกต่ำ ส่วนต้นพันธุ์ที่อายุ 14 เดือนขึ้นไป จะมีอัตราการงอกต่ำ งอกช้า รากน้อย เจริญเติบโตช้า และให้ผลผลิตต่ำ เมื่อต้นพันธุ์มีอายุมากจะมีสีน้ำตาลเข้ม มีขนาดใหญ่ แตกกิ่งมาก ซึ่งกิ่งที่แตกในระดับแรกอาจใช้เป็นท่อนพันธุ์ได้ แต่ต้องพิจารณาให้ดีว่ากิ่งดังกล่าวมีอายุพอเหมาะ

อายุการเก็บรักษาต้นพันธุ์หลังการตัดต้น [4]แก้ไข

 
ภาพที่ 1 แสดงวิธีการเก็บรักษาต้นพันธุ์ที่ดี

เกษตรกรควรใช้ต้นพันธุ์ที่สดใหม่ ตัดแล้วนำมาปลูกทันที หากต้องการเก็บต้นพันธุ์ไว้รอปลูก ให้รีบนำต้นพันธุ์ออกจากแปลงเพื่อป้องกันแดดเผาต้น นำมาเก็บรักษาโดยใช้วิธีมัดต้นพันธุ์แล้วนำมาวางตั้งเป็นกองให้ส่วนโคนของต้นสัมผัสผิวดิน ดังภาพที่ 1 เมื่อเก็บไว้นาน ตาบนต้นพันธุ์จะแตกยอดอ่อนออกมา เกษตรกรควรตัดท่อนพันธุ์ส่วนที่แตกยอดอ่อนทิ้ง และเลือกเฉพาะส่วนที่ไม่มีการแตกยอดอ่อนไปปลูก วิธีนี้จะช่วยเก็บรักษาต้นพันธุ์ให้คงความสดไว้ได้นานกว่าการเก็บด้วยวิธีอื่น ๆ และสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 2 เดือน อย่างไรก็ตามระยะเวลาในการเก็บรักษาต้นพันธุ์ยิ่งนานเท่าใด ส่วนของต้นพันธุ์ที่จะตัดเป็นท่อนพันธุ์ได้จะยิ่งน้อยลง และความงอกของท่อนพันธุ์ก็จะลดลงด้วย ดังนั้นท่อนพันธุ์ที่ดีไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 15 – 30 วัน และแต่ละพันธุ์จะมีอายุการเก็บรักษาต้นพันธุ์แตกต่างกัน ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 อายุการเก็บรักษาต้นพันธุ์ของมันสำปะหลังพันธุ์ต่าง ๆ

พันธุ์ ระยะเวลาเก็บรักษาต้นพันธุ์
ระยอง 90 ไม่ควรเกิน 15 วัน
ระยอง 5 ระยอง 9 และห้วยบง 60 ไม่ควรเกิน 30 วัน
ระยอง 11 ระยอง 72  เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 80 ไม่ควรเกิน 45 วัน

ส่วนของต้นพันธุ์ที่ใช้แก้ไข

ส่วนของต้นพันธุ์ที่ใช้ปลูกมักใช้ส่วนกลางค่อนมาทางส่วนโคน[1] ซึ่งจะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงกว่าการปลูกโดยใช้ส่วนปลายหรือส่วนยอด ไม่ควรใช้ส่วนของกิ่งมาปลูกเนื่องจากมีความงอกและความอยู่รอดต่ำกว่าส่วนของลำต้น ในการเตรียมท่อนพันธุ์ควรตัดส่วนปลายต้นที่มีตาห่าง ส่วนโคนต้นที่มีตาถี่มาก และส่วนที่มีบาดแผลจากการถูกสารกำจัดวัชพืชในช่วงที่ต้นยังเล็กทิ้ง

ขนาดและความยาวท่อนพันธุ์แก้ไข

 
ภาพที่ 2 แสดงขนาดของท่อนพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางใกล้เคียงกับเหรียญ 5 หรือ 10 บาท

ท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง และมีขนาดพอเหมาะสำหรับปลูกควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 – 2.5 เซนติเมตร และมีความยาวท่อนพันธุ์ประมาณ 20 – 30  เซนติเมตร มีตาอยู่ประมาณ 5 – 6  ตาต่อ 1 ท่อนพันธุ์ การปลูกมันสำปะหลังในช่วงต้นฤดูฝนควรใช้ท่อนพันธุ์ยาว 20 – 25 เซนติเมตร ส่วนในช่วงปลายฤดูฝนใช้ท่อนพันธุ์ยาว 25 – 30  เซนติเมตร[1] จึงจะให้เปอร์เซ็นต์ความงอกและความอยู่รอดสูง โดยปกติส่วนปลาย ของท่อนพันธุ์จะสูญเสียความชื้นจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง ทำให้ท่อนพันธุ์เริ่มแห้งจากส่วนปลายลงมา การใช้ท่อนพันธุ์ยาวในการปลูกมีข้อดี คือ มีจำนวนตาบนท่อนพันธุ์มากกว่าและถึงแม้ท่อนพันธุ์จะมีการแห้งจากยอด แต่ยังมีตาที่เหลือถัดลงมาซึ่งสามารถงอกได้ นอกจากนี้การใช้ท่อนพันธุ์ยาวยังช่วยลดความเสียหายจากการใช้สารกำจัดวัชพืชขณะที่ต้นยังเล็กได้มากกว่าการใช้ท่อนพันธุ์สั้น

ต้นพันธุ์ที่ปราศจากโรคและแมลง [4]แก้ไข

ต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกควรปลอดจากโรคและแมลง เช่น โรคใบด่าง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส หรือ โรคใบไหม้ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในท่อน้ำท่ออาหารภายในลำต้น โดยสามารถสังเกตอาการจากแปลงปลูกเดิมว่ามีต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคดังกล่าวหรือไม่ หากมีไม่ควรนำไปปลูกต่อ ควรนำไปเผาทำลายทิ้งและไม่ควรไถกลบเศษซากต้นลงไปในดินเนื่องจากเชื้อจะสะสมอยู่ในดินต่อไป นอกจากนี้หากบริเวณผิวของลำต้นมีเพลี้ยแป้งหรือเพลี้ยหอยอาศัยอยู่ก็ไม่ควรนำต้นพันธุ์นั้นมาใช้ปลูกเช่นกัน หรือต้นพันธุ์ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เช่น สารพาราควอต ซึ่งเมื่อฉีดพ่นโดนบริเวณที่มีสีเขียวของลำต้นในช่วงอายุ 1 – 4 เดือนหลังปลูก พอลำต้นแก่ เปลือกลำต้นจะมีสีดำ แห้ง และปริแตก ไม่ควรนำมาใช้เป็นท่อนพันธุ์เนื่องจากมีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ

ความบริสุทธิ์ของต้นพันธุ์ [4]แก้ไข

 
ภาพที่ 3 แสดงการตรวจสอบพันธุ์ปนและความสมบูรณ์

การจัดหาต้นพันธุ์มันสำปะหลังควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และการจัดซื้อควรมีขั้นตอนการตรวจสอบพันธุ์ปนทุกครั้ง โดยตรวจสอบพันธุ์ปน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เป็นการสุ่มตรวจในแปลงก่อนตัดต้นพันธุ์โดยให้มีพันธุ์ปนไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ และตรวจสอบครั้งที่ 2 หลังการตัดต้นพันธุ์ เป็นการสุ่มตรวจในกองต้นพันธุ์ซึ่งควรมีพันธุ์ปนไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้

  • วิธีการตรวจสอบพันธุ์ปนในแปลงก่อนตัดต้นพันธุ์

ควรดำเนินการในช่วงที่มันสำปะหลังมีอายุประมาณ 1 – 2 เดือนหลังปลูก เนื่องจากต้นยังเล็กและสามารถจำแนกพันธุ์ได้ง่ายกว่าช่วงอายุอื่น ๆ โดยใช้ลักษณะสียอดอ่อน และสีก้านใบในการจำแนกพันธุ์เป็นหลัก หรืออาจทำพร้อมกับการตรวจสอบความงอก โดยสุ่มตรวจเป็นจุด จุดละ 100 ต้น แปลงขนาด 25 ไร่ ควรสุ่มตรวจอย่างน้อย 5 จุด แล้วหาค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์พันธุ์ปนในแปลงนั้น ๆ การตรวจสอบพันธุ์ปนในช่วงนี้จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนจัดการด้านแรงงานที่ต้องใช้ในการคัดพันธุ์ปนทิ้งเพื่อให้ได้แปลงพันธุ์ที่บริสุทธิ์

กรณีการตรวจสอบพันธุ์ปนในแปลงขายต้นพันธุ์ ควรดำเนินการในช่วงก่อนการตัดต้นออกจากแปลงโดยใช้ลักษณะทรงต้น สีลำต้น ความนูนของรอยแผลก้านใบในการจำแนกพันธุ์เป็นหลัก วิธีการคือควรสุ่มตรวจอย่างน้อย 5 จุด จุดละ 100 ต้น ถ้าแปลงมีขนาด 25 ไร่ แล้วหาค่าเฉลี่ย โดยให้มีพันธุ์ปนได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หากมีเปอร์เซ็นต์พันธุ์ปนสูงกว่านี้จะทำให้การคัดพันธุ์ปนทั้งหมดทิ้งหลังซื้อทำได้ยาก และต้องสิ้นเปลืองค่าแรงงานในการคัดพันธุ์ปนในแปลงปลูกใหม่ จึงไม่ควรจัดซื้อต้นพันธุ์จากแปลงดังกล่าว

  • วิธีการตรวจสอบพันธุ์ปนในกองต้นพันธุ์หรือหลังการตัดต้นพันธุ์

ในกรณีที่เป็นการซื้อต้นพันธุ์ที่ตัดไว้แล้ว สามารถตรวจสอบพันธุ์ปนในกองต้นพันธุ์ได้โดยใช้ลักษณะสีลำต้น และความนูนของรอยแผลก้านใบในการจำแนกพันธุ์เป็นหลัก โดยสุ่มจากมัดของต้นพันธุ์ที่อยู่ในกองมากองละ 4 มัด โดยปกติ 1 มัดจะมีต้นพันธุ์ 25 ลำ ดังนั้นจะได้ต้นพันธุ์ 100 ลำ แล้วตรวจสอบว่ามีจำนวนต้นพันธุ์ปนเท่าใด เพื่อคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์พันธุ์ปนของกองนั้น ๆ โดยไม่ควรมีพันธุ์ปนเกิน 2 เปอร์เซ็นต์ กรณีที่ซื้อต้นพันธุ์ในปริมาณมากไม่สามารถตรวจสอบทุกกองได้ ควรสุ่มในปริมาณที่มากพอและทั่วถึงเพื่อให้เป็นตัวแทนของต้นพันธุ์ทั้งหมด

กรณีพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่ ควรสร้างแปลงขยายพันธุ์ดีไว้ใช้เองในพื้นที่ หรือขยายพันธุ์เพื่อแจกจ่ายเกษตรกรลูกไร่ของตน โดยเริ่มต้นจากการจัดซื้อพันธุ์ดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาปลูก และจัดเจ้าหน้าที่หรือนักวิชาการเกษตรสำหรับคัดพันธุ์ปนทิ้งในช่วงที่มันสำปะหลังอายุประมาณ 1 – 2  เดือนหลังปลูก ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถจำแนกพันธุ์ได้ง่ายและทำได้สะดวกรวดเร็วกว่าช่วงที่มันสำปะหลังมีอายุมาก นอกจากการตรวจสอบพันธุ์ปนแล้ว ควรตรวจสอบคุณภาพต้นพันธุ์ไปพร้อมกันด้วย เช่น ขนาดและความยาวของต้นพันธุ์ อายุการเก็บรักษาต้นพันธุ์หลังการตัด ความสมบูรณ์ของตา โรคและแมลงที่ติดมากับท่อนพันธุ์ เป็นต้น

อ้างอิงแก้ไข

  1. 1.0 1.1 1.2 http://web.sut.ac.th/cassava/?name=14cas_plant&file=readknowledge&id=59
  2. https://www.doa.go.th/fc/rayong/?p=530
  3. จรุงสิทธิ์ ลิ่มศิลา และคณะ. 2547. เอกสารวิชาการมันสำปะหลัง. สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร. หจก. ไอเดีย สแควร์ กรุงเทพฯ
  4. 4.0 4.1 4.2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2556) เทคโนโลยี 52 สัปดาห์ มันสำปะหลัง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ.