การเตรียมท่อนพันธุ์

มันสำปะหลังสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งจากเมล็ดและลำต้น แต่การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดไม่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่ปลูกเพื่อขายผลผลิตสู่โรงงานแปรรูปหรือเพื่อการค้า เนื่องจากเมล็ดมีระยะพักตัวประมาณ 2 เดือน ทำให้ไม่สะดวกในการปลูกเพื่อการค้า และการปลูกโดยใช้เมล็ดในแปลงปลูกโดยตรง ในระยะต้นอ่อนจะมีความอ่อนแอ เจริญเติบโตช้า ไม่สามารถแข่งขึ้นกับวัชพืชได้ มีจำนวนต้นอยู่รอดน้อย ดังนั้นการขยายพันธุ์มันสำปะหลังด้วยท่อนพันธุ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม มีผลทำให้ผลผลิตดี[1] ซึ่งการเตรียมท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่มีข้อพิจารณาดังนี้

การตัดท่อนพันธุ์ [2]แก้ไข

ลักษณะการสับท่อนพันธุ์โดยวิธีสับตรงหรือสับเฉียง รวมทั้งการใช้มีดหรือใช้เครื่องตัดหญ้าติดใบมีดตัด ไม่ทำให้ผลผลิตที่ได้แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกวิธีและอุปกรณ์ในการสับท่อนพันธุ์จึงขึ้นอยู่กับความพร้อมของแรงงานและอุปกรณ์ที่มีอยู่

 
ภาพแสดงการตัดท่อนพันธุ์ด้วยมีด
 
ภาพแสดงการตัดท่อนพันธุ์ด้วยเครื่องตัดหญ้าติดใบมีด

อายุต้นพันธุ์ที่เหมาะสมแก้ไข

มันสำปะหลังเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยลำต้น โดยอายุของท่อนพันธุ์ที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วง 8 – 12 เดือน ซึ่งเมื่อนำไปปลูกจะมีเปอร์เซ็นต์อยู่รอดถึง 90 – 94 เปอร์เซ็นต์[3]

ขนาดของท่อนพันธุ์แก้ไข

ตัดท่อนพันธุ์ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร สำหรับปลูกในฤดูฝน และความยาว 25 เซนติเมตรสำหรับปลูกในช่วงปลายฤดูฝน มีตาไม่น้อยกว่า 5 ตาต่อท่อนพันธุ์ ท่อนพันธุ์จากลำต้นจะเจริญเติบโตดีกว่าท่อนพันธุ์จากกิ่งพันธุ์ ควรเลือกต้นพันธุ์ใหม่ สด ไม่บอบช้ำ ไม่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย[4]                      

การแช่ท่อนพันธุ์ด้วยธาตุอาหารพืช [2]แก้ไข

การแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารชีวภาพหรือฮอร์โมนเร่งรากไม่ทำให้ผลผลิตและปริมาณแป้งในหัวแตกต่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนในขั้นตอนนี้ แต่หากต้นพันธุ์ที่นำมาใช้ปลูกเป็นต้นเก่า เก็บรักษาไว้นานมากกว่า 1 เดือน แนะนำให้แช่ท่อนพันธุ์ในน้ำเปล่านานประมาณ 2 ชั่วโมงแล้วนำขึ้นมาบ่มไว้นาน 1 คืน จะช่วยให้ความงอกและความอยู่รอดสูงขึ้นแตกต่างจากการไม่แช่น้ำอย่างเด่นชัด โดยไม่จำเป็นต้องแช่ฮอร์โมนหรือปุ๋ยชีวภาพแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวสิ้นเปลืองเวลาและไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการเลือกใช้ต้นพันธุ์ที่ตัดสดหรือตัดทิ้งไว้ไม่เกิน 15 วันมาปลูก โดยการวางแผนช่วงเวลาตัดต้นพันธุ์ให้สอดคล้องกับแผนการปลูก

ในกรณีที่พื้นที่ปลูกเป็นดินด่าง (pH > 7.0) หรือต้นพันธุ์ที่จัดหามาปลูกได้มาจากพื้นที่ที่ขาดธาตุสังกะสี (Zn) เมื่อนำต้นพันธุ์จากแหล่งที่ขาดธาตุอาหารดังกล่าวมาปลูก ต้นมันสำปะหลังมักแสดงอาการขาดธาตุสังกะสีตั้งแต่ต้นยังเล็ก วิธีการแก้ไขทำได้โดยการแช่ในสารละลายซิงค์ซัลเฟต (ZnSO4) ที่ความเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ โดยผสมซิงค์ซัลเฟตในอัตรา 400 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ท่อนพันธุ์นานประมาณ 10 นาที ทั้งนี้สามารถแช่ไปพร้อมกับสารเคมีป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งได้ หรือหากไม่สะดวกในการแช่ท่อนพันธุ์สามารถฉีดพ่นธาตุอาหารดังกล่าวทางใบโดยผสมซิงค์ซัลเฟตในอัตรา 800 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2 – 3 ครั้ง ทุก 7 วัน ตั้งแต่มันสำปะหลังเริ่มงอกจนถึง 60 วันหลังปลูก หรือจนกว่ามันสำปะหลังจะไม่แสดงอาการขาดธาตุอาหารดังกล่าว

การแช่ท่อนพันธุ์เพื่อป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังแก้ไข

หากใช้ท่อนพันธุ์ที่มาจากแหล่งที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง หรือในพื้นที่ปลูกโดยรอบพบการระบาดของเพลี้ยแป้งอยู่ก่อนแล้ว ควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงก่อนปลูก สารเคมีที่แนะนำและวิธีการใช้ แสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลง อัตราการใช้ และระยะเวลาในการแช่ท่อนพันธุ์[5]

สารเคมี อัตรา (กรัม/น้ำ 20 ลิตร) แช่นาน (นาที)
ไทอะมิโทแซม 25% WG 4 5 – 10
อิมิดาโคลพริด 70% WG 4 5 – 10
ไดโนทีฟูแรน 10% WP 40 5 – 10

วิธีการผสมสารเคมีแช่ท่อนพันธุ์ ทำได้โดยการผสมสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งข้างต้นตามอัตราที่แนะนำ แล้วแช่ท่อนพันธุ์นาน 5 – 10 นาที ไม่ควรแช่นานเกิน 10 นาที เนื่องจากอาจทำให้มันสำปะหลังแสดงอาการเป็นพิษจากฤทธิ์ของสารเคมี และทำให้สิ้นเปลืองเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ เมื่อแช่เสร็จสามารถนำไปปลูกได้ทันทีหรืออาจผึ่งลมไว้ให้แห้งก่อนปลูกก็ได้ โดยปกติการปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้น้ำแช่ท่อนพันธุ์ประมาณ 80 ลิตร เมื่อแช่ท่อนพันธุ์ 3 – 4 ครั้ง น้ำในถังแช่จะลดลง สามารถผสมสารเคมีในอัตราเดิมหรือความเข้มข้นเท่าเดิมเทเพิ่มลงไปในถังแช่ท่อนพันธุ์ได้โดยไม่ทำให้ความเข้มข้นของสารเคมีเปลี่ยนแปลง จะช่วยกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์ และสารเคมีจะแทรกซึมเข้าไปในท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง หลังจากมันสำปะหลังงอกแล้วสารฆ่าแมลงจะมีฤทธิ์ป้องกันการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งได้นานประมาณ 1 เดือน[5]

 
ภาพแสดงการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีเพื่อป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

การเก็บรักษาท่อนพันธุ์ [2]แก้ไข

ภายหลังตัดต้นพันธุ์ออกจากแปลง ต้องใช้เวลาในการขุดเก็บเกี่ยวผลผลิตและเตรียมพื้นที่เพื่อปลูกใหม่ในฤดูถัดไป อาจต้องใช้เวลามากกว่า 15 วัน หรืออาจต้องรอให้ฝนตกจนดินมีความชื้นเพียงพอสำหรับปลูกซึ่งอาจต้องเก็บรักษาต้นพันธุ์ไว้นานมากกว่า 2 เดือน การยืดอายุการเก็บรักษาต้นพันธุ์ให้ยาวนานขึ้น สามารถปฏิบัติตามวิธีการดังนี้

  1. จัดเตรียมแปลงที่จะใช้เก็บรักษาต้นพันธุ์โดยการไถพรวนดินให้ร่วนซุย และอาจให้น้ำเพื่อให้ดินมีความชื้นสม่ำเสมอ
  2. จัดเรียงต้นพันธุ์โดยให้ส่วนโคนต้นสม่ำเสมอกัน
  3. ตั้งมัดต้นพันธุ์เป็นกองรูปกระโจมประมาณ 20 มัดต่อกอง หรือประมาณ 500 ลำต่อกอง โดยตั้งให้เป็นแถว เว้นช่องว่างหรือทำถนนให้รถบรรทุกสามารถเข้าไปขนต้นพันธุ์ไปปลูกได้โดยสะดวก
  4. ใช้ดินกลบส่วนโคนต้นโดยรอบกองต้นพันธุ์
  5. หากสามารถให้น้ำได้ ให้รดน้ำบริเวณโดยรอบกองต้นพันธุ์ให้ดินมีความชื้นอยู่เสมอ
  6. การกองต้นพันธุ์ควรเลือกกองในสภาพกลางแจ้งจะดีกว่าการกองไว้ในร่ม

การปฏิบัติตามวิธีการข้างต้นสามารถเก็บรักษาต้นพันธุ์ได้นานประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ อย่างไรก็ตามคุณภาพต้นพันธุ์จะเสื่อมไปตามอายุการเก็บรักษาต้นพันธุ์ ดังนั้นเกษตรกรจึงควรทำแปลงสำรองพันธุ์ไว้ใช้เองในพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยงจากการผันแปรของสภาพอากาศ ซึ่งโดยปกติแปลงสำรองพันธุ์ขนาด 1 ไร่ สามารถนำไปปลูกได้ในพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ หรืออัตราส่วน 1 ต่อ 5

 
ภาพแสดงวิธีการเก็บรักษาต้นพันธุ์ที่ดี

อ้างอิงแก้ไข

  1. จรุงสิทธิ์ ลิ่มศิลา. 2547. เอกสารวิชาการมันสำปะหลัง พันธุ์และการขยายพันธุ์. ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6
  2. 2.0 2.1 2.2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2556) เทคโนโลยี 52 สัปดาห์ มันสำปะหลัง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ.
  3. ไกวัล กล้าแข็ง และวิลาวัลย์ วงษ์เกษม. 2548. การปลูกมันสำปะหลัง. กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี.
  4. วิลาวัลย์ วงษ์เกษม และคณะ. 2552. เอกสารคำแนะนำการผลิตมันสำปะหลัง. กรมส่งเสริมการเกษตร
  5. 5.0 5.1 กรมวิชาการเกษตร. 2554. การจัดทำแปลงขยายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและเหมาะสมกับพื้นที่. ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี พี พีค พริ้นติ้งแอนด์เซอร์วิส