การจัดการโรค

จาก Cassava
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

มันสำปะหลังจัดเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย และมีการดูแลรักษาไม่ยุ่งยากเหมือนพืชชนิดอื่น นอกจากนี้ยังสามารถปลูกได้ดีในสภาพอากาศของประเทศไทย สามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วง 8 - 12 เดือนหลังปลูก แต่พอว่าการศึกษาเกี่ยวกับโรคของมันสำปะหลังที่ผ่านมายังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก อาจเนื่องมาจากยังไม่มีการระบาดที่ทำความเสียหายได้อย่างชัดเจน เหมือนกับการทำลายของแมลง ประกอบกับการเข้าใจผิดที่ว่ามันสำปะหลังไม่มีโรครบกวน แต่ที่จริงแล้วมีโรคไม่น้อยที่เกิดขึ้นในมันสำปะหลัง (Hillocks et. al., 2002)[1] โดยมีสาเหตุมาจากสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ได้แก่ โรคใบไหม้ โรคแอนแทรคโนส โรคใบจุดสีน้ำตาล โรครากเน่าและหัวเน่า โรคเน่าเปียก โรครากปม (กลุ่มวิจัยโรคพืช, 2559[2]; อุดมศักดิ์, 2555[3]; ศานิต, 2557)[4] และอาการขาดธาตุในมันสำปะหลัง ในปัจจุบันพบว่าโรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava Mosaic Virus หากมีการระบาดรุนแรงสามารถส่งผลกระทบต่อผลผลิตมันสำปะหลังได้มากถึงร้อยละ 80 – 100 (ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ, 2563)[5]

โรคใบไหม้ (Cassava bacterial blight)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

อาการของใบที่เป็นโรคใบไหม้ (ภาพเอื้อเฟื้อจาก ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis pv. Manihotis (ชื่อเดิม X. campestris pv. manihotis) พบว่ามีรายงานการแพร่ระบาดมาจากลาตินอเมริกาตั้งแต่ก่อนปี 1900 ต่อมาได้แพร่ระบาดไปยังทวีปแอฟริกา และแพร่ระบาดเข้ามาในทวีปเอเชียในปี 1970 รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ในทวีปแอฟริกาโรคนี้มีความสำคัญรองลงมาจากโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยทำให้ผลผลิตเสียหาย 7.5 ล้านตันต่อปี

ลักษณะอาการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

โรคใบไหม้ (Cassava bacterial blight) อาการเริ่มแรกใบจะมีลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำอยู่ระหว่างเส้นใบ จุดหรือแผลใบจึงมีรูปร่างเป็นเหลี่ยม เมื่ออาการพัฒนามากขึ้นจึงทำให้ใบไหม้และมีหยดเชื้อสีขาวขุ่นอยู่ใต้ใบซึ่งเป็นกลุ่มของแบคทีเรีย (bacterial ooze) อาการของโรคส่วนมากเกิดกับใบที่อยู่ส่วนกลางของทรงพุ่มใกล้ระดับดินก่อน เมื่อเชื้อลุกลามเข้าสู่ก้านใบทำให้ใบเหี่ยว หลุดร่วง และทำให้แห้งตายได้ เมื่อผ่าดูระบบท่อน้ำท่ออาหารของลำต้นจะมีสีคล้ำ เนื่องจากเนื้อเยื่อถูกทำลาย ในต้นที่มีอาการรุนแรงจะพบอาการยางไหลบนก้านใบหรือลำต้นที่ยังอ่อนได้อีกด้วย

อาการของต้นที่เป็นโรคใบไหม้ (ภาพเอื้อเฟื้อจาก ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช)

การแพร่ระบาด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เชื้อแบคทีเรียสามารถติดไปกับท่อนพันธุ์และเมล็ดพันธุ์จากต้นที่เป็นโรค โดยส่วนมากจะพบโรคในฤดูฝน และแพร่ระบาดมากในช่วงนี้ เชื้อสาเหตุสามารถอยู่ในดินที่มีเศษซากมันสำปะหลังได้นาน 21-49 วัน จากการสำรวจพบว่ามันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 มีความอ่อนแอต่อโรคใบไหม้มากกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50  ห้วยบง 60 และห้วยบง 80

การป้องกันกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่ปราศจากโรคใบไหม้ เตรียมแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี วางระยะปลูกให้เหมาะสมไม่ควรปลูกหนาแน่นเกินไป กำจัดชิ้นส่วนมันสำปะหลังที่เป็นโรคออกจากแปลง และอาจใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ฉีดป้องกันโรคก่อนถึงฤดูฝน (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[6]

โรคนี้อาจเรียกว่าโรค BLS เกิดจากเชื้อรา Cercosporidium henningsii หรือ Cercospora henningsii เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราที่ทำความเสียหายให้แก่มันสำปะหลังที่สำคัญโรคหนึ่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้มันสำปะหลังที่เป็นโรคมีจุดสีเหลืองกระจายอยู่ทั่วทั้งใบ เป็นการลดพื้นที่ใบในการสังเคราะห์แสง (เจริญศักดิ์, 2532[7]) ส่วนทางอ้อมพบว่าโรคใบจุดสีน้ำตาลทำให้ใบมันสำปะหลังร่วงหลังจากปลูก และร่วงมากขึ้นเมื่อปลูกไปแล้ว 5 เดือน (เจริญศักดิ์, 2529[8]) โรคนี้ทำให้ใบของมันสำปะหลังร่วงก่อนกำหนดเป็นผลให้วัชพืชขึ้นแก่งแย่งแข่งขันได้ดี ทำให้มันสำปะหลังสร้างหัวใต้ดินน้อย และผลผลิตลดลงในที่สุด โรคใบจุดสีน้ำตาลแสดงอาการผิดปกติเฉพาะส่วนใบเท่านั้น พบอาการใบจุดในตำแหน่งของใบที่อยู่ด้านล่างมากกว่าใบที่อยู่ด้านบน โดยแสดงอาการผิดปกติใน 2 ระยะ คือ ระยะแรกด้านใบมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลค่อนข้างเหลี่ยมตามเส้นใบ มีขอบชัดเจน และเมื่อสังเกตด้านหลังใบพบจุดแผลมีสีเทา เนื่องจากเส้นใยของเชื้อขึ้นปกคลุมส่วนใน ระยะที่สองปรากฏขอบแผลสีเหลืองรอบจุดสีน้ำตาลและ ถ้ารุนแรงขึ้นตรงกลางแผลมีอาการแห้งและหลุดออกเป็นรูกลวง (ศานิต, 2557[9])

โรคใบจุดสีน้ำตาล (brown leaf spot disease)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ลักษณะอาการของโรคใบจุดสีน้ำตาลบริเวณใบมันสำปะหลัง

ลักษณะอาการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

โดยทั่วไปต้นที่เป็นโรคมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ จะพบอาการของโรคบนใบล่างๆ มากกว่าใบบนซึ่งมีอายุน้อยกว่า มีรายงานว่าใบมันสำปะหลังอายุ 5 - 15 วัน จะทนทานต่อการเกิดโรค และจะอ่อนแอ พบเป็นโรคเมื่ออายุ 25 วันขึ้นไป โดยเกิดอาการใบจุดค่อนข้างเหลี่ยมตามเส้นใบมีความสม่ำเสมอ สีน้ำตาล ขนาด 3 - 15 มิลลิเมตร มีขอบชัดเจนจุดแผลด้านหลังใบมีสีเทา เนื่องจากมีเส้นใยและส่วนขยายพันธุ์ (fruiting bodies) ของเชื้อสาเหตุในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค แผลจะล้อมรอบด้วยวงสีเหลือง (yellow halo) และตรงกลางแผลอาจจะแห้งและหลุดเป็นรู (รัตติกาล และณัฐวุฒิ, 2555[10])

เชื้อรา C. henningsii มี perfect stage ที่ชื่อว่า Mycosphaerella henningsii ลักษณะสำคัญของเชื้อรานี้ สร้างก้านชูสปอร์ (conidiophores) เกิดเป็นกลุ่มเกาะกันอยู่ ก้านสปอร์มีลักษณะรูปร่างเรียวยาว ปลายของก้านชูสปอร์โค้งเล็กน้อย หรือบางครั้งก้านชูสปอร์สามารถแตกแขนงได้ มีสีซีดจางไปจนถึง สีน้ำตาล มีผนังกั้น (septate) ซึ่งมีรอยของ scar เห็นได้ชัด โคนิเดีย (conidia) มีสีซีดจนถึงน้ำตาลอ่อน โคนิเดียมีขนาด 3.5 - 5 x 14 - 18 ไมครอน มี 3 - 7 เซลล์ (Charles, 1953[11]; Pattana et al., 1980[12]; Vasudeva, 1963[13])

การแพร่ระบาด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เชื้อราสาเหตุของโรคสามารถอาศัยอยู่ได้บนใบมันสำปะหลังที่ร่วงอยู่ในไร่ และจะขยายพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ เมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สปอร์เหล่านี้จะแพร่กระจายโดยลม หรือน้ำฝนไปตกบนใบปกติ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ต่อไป สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการแพร่ระบาดของโรค ได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ และอายุของพืช การสร้างสปอร์หรือโคนิเดีย (spores of conidia) จะเกิดขึ้นเมื่อมีความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 50-90 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิที่ทำให้สปอร์งอกได้ดีที่สุดอยู่ระหว่าง 39-43 องศาเซลเซียส ดังนั้นเราจึงสามารถพบโรคใบจุดสีน้ำตาลในพื้นที่ที่มีสภาพความชื้นต่ำและแห้งแล้งได้ โดยปกติโรคจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตไม่มาก แต่กรณีที่เกิดโรครุนแรงอาจมีผลกระทบต่อพันธุ์อ่อนแอ การศึกษาความต้านทานของมันสำปะหลังต่อโรคใบจุดสีน้ำตาลพบว่า พันธุ์ ระยอง 90 และ ห้วยบง 60 มีความต้านทานต่อโรคใบจุดสีน้ำตาลมากกว่าพันธุ์ เกษตรศาสตร์ 50, ห้วยบง 80, MCKU 34-114-235, MCKU 34-114-245, ระยอง 1, ระยอง 5, ระยอง 60 และระยอง 72 ซึ่งมีความต้านทานโรคในระดับปานกลาง และมีรายงานว่าโรคนี้ทำให้ผลผลิตลดลง 14-20 เปอร์เซ็นต์ในพันธุ์ระยอง 1 เนื่องจากทำให้ใบมันสำปะหลังร่วงเร็วกว่าปกติ นอกเหนือจากมันสำปะหลังแล้ว เชื้อโรคนี้ยังสามารถอาศัยในพืชอื่นได้ เช่น M. glaziovii M. piauhynsis และ มันเทศ (Ipomoea batatas) (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556[14])

การป้องกันกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ใช้สารเคมี เช่น สารประกอบทองแดง (copper compound) หรือสารเบโนมิล (benomyl) พ่นให้ทั่วบริเวณที่เป็นโรคอย่างน้อย 1-2 ครั้ง เพื่อลดการระบาดของโรค การใช้พันธุ์ต้านทาน และควรกำจัดใบที่เป็นโรคออกจากแปลง เชื้อสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava Mosaic Virus อยู่ในวงศ์ (Family) Geminiviridae สกุล (Genus)  Begomovirus โดยมีชนิดของสารพันธุ์กรรมเป็น ดีเอ็นเอสายเดี่ยวขดเป็นวง ที่มีจำนวน 2 โมเลกุล (Bipartite genomes) เรียกว่า DNA-A และ DNA-B (สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช. 2561) ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในทางแอฟริกา โดยมีชื่อว่า African Cassava Virus (ACMV) ทั่วโลกเรียกว่า ACMV จนมาเจอเชื้อที่มีลักษณะเหมือน ACMV แต่ไม่ทำปฏิกิริยากับเซรุ่มวิทยากับ anti ACMV โดยพบการระบาดอยู่ในประเทศ เคนย่า ทางทิศตะวันออกของทวีปจึงได้ชื่อว่า East African Cassava Mosaic Virus (EACMV) เพื่อให้ทราบว่าเชื้อมีถิ่นกำเนิดทางภาคตะวันออก จากนั้นได้มีการพบเชื้อเพิ่มขึ้นอีกหลายชนิดในแถบแอฟริกา และอีก 2 ชนิดในแถบอินเดียและศรีลังกา คือ Indian Cassava Mosaic Virus (ICMV) และ Srilankan Cassava Mosaic Virus (SLCMV) จากนั้นได้มีการระบาดครั้งแรกในปี 2559 ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศเวียดนาม และกัมพูชา สายพันธุ์ Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) ต่อมาในปี 2561 ได้มีการรายงานพบโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย จังหวัด ปราจีนบุรี สุรินทร์ และศรีสะเกษ จากกรมวิชาการเกษตร และได้ดำเนินการกำจัดเรียบร้อย จากนั้นพบอาการใบด่างในจังหวัดสระแก้ว ในปี 2562 (ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ, 2563[15]) และได้มีการพบการแพร่ระบาดในพื้นที่ 29 จังหวัด พื้นที่ระบาดรวมทั้งสิ้น 442,564 ไร่ โดยจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา สระแก้ว และบุรีรัมย์ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2563[16]) ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผลผลิต 80 – 100%

โรคใบด่างมันสำปะหลัง (Cassava mosaic disease)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ลักษณะอาการโรคใบด่างมันสำปะหลังบริเวณใบของมันสำปะหลัง
ลักษณะอาการโรคใบด่างมันสำปะหลังบริเวณใบของมันสำปะหลัง

ลักษณะอาการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

มันสำปะหลังที่แสดงอาการของโรคใบด่างจะแสดงอาการใบด่างเหลือง ใบเสียรูปทรง ยอดที่แตกใหม่จะแสดงอาการด่างเหลือง ลำต้นมีลักษณะแคระแกร็น หัวมันสำปะหลังมีขนาดเล็กกว่าปกติ โดยอาการจะเริ่มต้นที่ใบยอดก่อนโดยเริ่มจากอาการเส้นใบใส จากนั้นเปลี่ยนเป็นใบด่างคล้ายลายหินขัด (mosaic) ในเนื้อใบส่วนที่มีสีซีดมักบางหรือเจริญลดลงทำให้ใบมีลักษณะผิดรูป (distort) หรือบิดเบี้ยว (crinkling) ในมันสำปะหลังบางพันธ์ หรือในสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง อาจแสดงอาการของโรคไม่ชัดเจน เนื่องมาจากมีการตอบโต้ป้องกันตัวเองจากมันสำปะหลัง ในขณะที่มีการปลูกมันสำปะหลังในพันธุ์เดิมพื้นที่เดิม อาจส่งผลให้เกิดการระบาดรุนแรงขึ้น หากเกิดการกลายพันธุ์หรือมีการเข้าทำลายร่วมกับเชื้อชนิดอื่น จะส่งผลให้มันสำปะหลังที่เป็นโรคมีขนาดหัวมัน จำนวน และเปอร์เซ็นต์แป้งลดลง (โสภณ, 2560[17])


การแพร่ระบาด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เชื้อไวรัส Cassava mosaic virus สามารถแพร่ระบาดได้โดยติดไปกับท่อนพันธุ์ และวิธีการถ่ายทอดผ่านแมลงหวี่ขาวยาสูบ (อุดมศักดิ์, 2555[18]) แมลงหวี่ขาวยาสูบ (tobacco whitefly) ชื่อวิทยาศาสตร์ Bemisia tabaci (Gennadius) โดยแมลงหวี่ขาวยาสูบจะไปดูดกินน้ำเลี้ยงของต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค จากนั้นอนุภาคไวรัสจะติดที่ปลายปากของแมลงหวี่ขาว และเข้าไปเพิ่มปริมาณในตัว จากนั้นการถ่ายทอดเชื้อไวรัสจะเกิดขึ้นเมื่อแมลงไปดูดกินน้ำเลี้ยงของมันสำปะหลังในต้นต่อไป (วันวิสา. 2561[19])โดยตัวเต็มวัยของแมลงมีความยาว 1 มิลลิเมตร ปีกสีขาว ลำตัวสีเหลืองอ่อน มักพบเกาะตามใบมันสำปะหลัง วางไข่และฟักตัวอ่อนจนครบวงจรชีวิต (สำนักงานวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช. 2561[20]) โดยแมลงหวี่ขาวยาสูบมีพืชอาศัยหลายชนิด เช่น กะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง พืชตระกูลพริก มะเขือ มันฝรั่ง และพืชตระกูลแตง ส่งผลให้เชื้อไวรัสสามารถแพร่ระบาดไปได้อย่างกว้างขวาง (สำนักงานข่าวประชาสัมพันธ์. 2563[21])

การป้องกันกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

หากมีการพบมันสำปะหลังที่แสดงอาการมากกว่า 10 ต้นต่อไร่ ทำการถอนทำลายต้นมันสำปะหลังทิ้งทั้งแปลง โดยไม่ให้เหลือเศษซากพืชหรือชิ้นส่วนของต้นมันสำปะหลังหลงเหลืออยู่ในแปลง จากนั้นทำการฝังกลบในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 2 – 3 เมตร ราดด้วยสารกำจัดวัชพืช อะมีทรีน 80% WG และกลบด้วยดินหนาไม่น้อยกว่า 0.5 เมตร ทำการพ่นด้วยสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ ด้วยสารเคมี อิมิดาโคลพริด 70 % WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนฟูแรน 10% SL อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร บนต้นมันสำปะหลังในแปลงที่พบอาการใบด่าง และแปลงงข้างเคียง (กรมวิชาการเกษตร, ม.ป.ป.[22])

โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ลักษณะอาการของโรคแอนแทรคโนสบริเวณยอด ก้านใบ และกิ่ง ของมันสำปะหลัง

ลักษณะอาการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

จะแสดงอาการในส่วนของยอด ลำต้น ก้านใบ และใบ โดยในส่วนยอดจะแสดงอาการยอดตายแผลมีขอบชัดเจน สีน้ำตาลถึงดำ ก้านใบจะแสดงเป็นรอยไหม้ที่โคนก้านใบติดกับลำต้น และก้านใบที่อยู่ติดกับตัวใบหักลู่ลงในที่สุดจะหลุดร่วงทั้งต้น ใบ มีอาการไหม้ที่ขอบใบ และปลายใบ ขยายตัวเข้าสู่กลางใบและไหม้หมดในที่สุด  ถ้าเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอมาก จะมีอาการยืนต้นตาย หรือพันธุ์ที่ค่อนข้างทนทานต่อโรค ยอดจะหักทำให้มีการแตกกิ่งหรือยอดใหม่มาทดแทน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการงอกของเมล็ดพันธุ์และท่อนพันธุ์ที่นำไปปลูก ทำให้อัตราการงอกและความสมบูรณ์ของต้นลดลง (สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, 2559)[23]

การแพร่ระบาด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

โรคนี้สามารถระบาดไปกับท่อนพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ได้

การป้องกันกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ตัดส่วนที่ป็นโรคไปเผาทำลาย พ่นสารเบโนมิล (benomyl) หรือการใช้เชื้อราปฏิปักษ์ไตรโคเดอร์มา ฮาเซียนัม (Trichoderma harzianum) พ่นควบคุมโรค 3 – 5 ครั้งจนกว่าโรคจะหยุดระบาด (สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, 2559)[24]

เป็นโรคที่ส่งผลต่อผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยพบโรคนี้มากในพื้นที่ที่ระบายน้ำไม่ดี มีปริมาณน้ำฝนมากเกินไปหรือเป็นพื้นที่ที่เคยมีการปลูกกาแฟ ยาง หรือเป็นป่าไม้มาก่อน ในบางครั้งสามารถพบในพื้นที่ที่มีการชะล้างสูง สามารถเกิดได้ทั้งระยะ ต้นกล้า และระยะลงหัวแล้ว สาเหตุโรครากเน่าและหัวเน่าเกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น  Phytophthora sp., Sclerotium sp., Rigidoporus (Fomes) lignosus

โรครากเน่าและหัวเน่า (Root and tuber rot)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ลักษณะอาการของโรครากเน่าและหัวเน่าบริเวณหัวของมันสำปะหลัง

ลักษณะอาการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  • จากเชื้อรา Phytophthora sp. แสดงอาการที่รากเป็นรอยช้ำสีน้ำตาลและเน่า บนต้นจะแสดงอาการเหี่ยวเฉา หากเข้าทำลายในระยะลงหัวจะทำให้หัวเน่าอย่างรวดเร็ว และมีกลิ่นเหม็น ใบเหี่ยวหลุดร่วง ถ้ารุนแรงจะส่งผลให้ต้นมันสำปะหลังตายได้
  • จากเชื้อรา Sclerotium sp. จะสังเกตเห็นเส้นใยสีขาวเจริญอยู่ในดินบริเวณรอบโคนท่อนพันธุ์และราก บางครั้งอาจพบบนท่อนพันธุ์มีเม็ดกลมเล็กๆ ขนาดเท่าเมล็ดผักกาดเรียกว่า sclerotia ที่สร้างโดยเส้นใยเชื้อราชนิดนี้อยู่ ซึ่งจะเป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อ สามารถอยู่ในดินได้เป็นเวลานานหลายปี เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมเหมาะสมเม็ด sclerotia จะเจริญเติบโตเป็นเส้นใยเข้าทำลายต้นอื่นต่อไป เส้นใยของเชื้อจะเข้าทำลายมันสำปะหลังทำให้ระบบรากเน่า ใบเหี่ยวและตายในที่สุด

การแพร่ระบาด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

โดยส่วนใหญ่จะเกิดปัญหาเฉพาะบางพื้นที่และในพื้นที่ที่มีการระบายน้ำได้ไม่ดี

การป้องกันกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เริ่มจากการเตรียมแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำได้ดี ไม่ควรปลูกในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง หรือใกล้ทางระบายน้ำ หากดินระบายน้ำไม่ดีควรปลูกแบบยกร่อง และทำความสะอาดแปลงก่อนการปลูก ทำลายหัวมันเน่าที่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและคิดเลือกท่อนพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ปราศจากโรคมาปลูก (อุดมศักดิ์, 2555)[25]

โรครากปมมันสำปะหลัง (cassava Root-knot)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เชื้อสาเหตุเกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne incognita

ลักษณะอาการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อไส้เดือนฝอยเข้าทำลายส่วนของรากมันสำปะหลังจะแสดงอาการเป็นปุ่มปม และจะไม่ทำการสะสมอาหาร ในกรณีที่ถูกไส้เดือนฝอยเข้าทำลายรุนแรงจะพบอาการเหี่ยวเฉาที่ใบและกิ่งแห้ง หรือลำต้นเหี่ยว และอาจทำให้ยืนต้นตายได้ โดยสามารถส่งผลกระทบต่อผลผลิตได้ตั้งแต่ 70% ขึ้นไปในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง  (สำนักงานวิจัยพัฒนาอารักขาพืช, 2559)[26]

การแพร่ระบาด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ไส้เดือนฝอยรากปมสามารถแพร่ระบาดได้ดีในพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย สามารถแพร่ระบาดไปได้กับระบบการให้น้ำ หรือไหลไปกับน้ำฝน รวมทั้งติดไปกับดิน หรือติดไปกับเครื่องมือการเกษตรต่างๆ เช่นล้อรถไถ จอบ และเครื่องมืออื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถติดไปกับรองเท้าของเกษตรกรได้เช่นกัน (นุชนารถ, 2016)[27]

การป้องกันกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ควรหลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังซ้ำในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค ควรปลูกพืชแบบสลับ เช่น ปอเทือง เพื่อลดจำนวนประชากรไส้เดือนฝอยหรือหมั่นตรวจแปลงมันสำปะหลัง ในกรณีที่พบอาการเหี่ยวเฉาที่ใบและกิ่งแห้งทั้งต้น หรือใช้พันธุ์ต้านทาน ระยอง 72 (สำนักงานวิจัยพัฒนาอารักขาพืช, 2559)[28]

โรคลำต้นไหม้ (stem blight disease)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

กษณะอาการของโรคลำต้นไหม้บริเวณลำต้นของมันสำปะหลัง

เชื้อสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phoma eupyrena มีการเริ่มระบาดในปี 2557 ในหลายพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ ระยอง สระแก้ว สระบุรี นครราชสีมา กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี ส่งผลให้เกษตรกรเกิดการขาดแคลนท่อนพันธุ์  เนื่องจากโรคดังกล่าวมีการแพร่ระบาดไปกับท่อนพันธุ์ได้ ทำให้มันสำปะหลังแห้งตายตั้งแต่ระยะ 1 – 2 เดือน

ลักษณะอาการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เชื้อรามีการเข้าทำลายตรงรอยตัดส่วนบนของท่อนพันธุ์ ทำให้ยอดด้านบนแห้งตาย และเชื้อลามลงมาสู่โคนต้น บริเวณเปลือกลำต้นจะมีรอยปริแตก เป็นกลุ่มสปอร์เป็นเม็ดกลมสีดำปรากฏอยู่จำนวนมาก เมื่อยอดถูกทำลายจะทำให้มันสำปะหลังแตกตาข้างมากกว่าปกติ หากอาการรุนแรงต้นกล้าจะแสดงอาการใบเหลือง แห้ง ร่วง และยืนต้นตายในที่สุด

การแพร่ระบาด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

โรคนี้มีการแพร่ระบาดไปกับท่อนพันธุ์

การป้องกันกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ใช้ท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์และปลอดโรค หลีกเลี่ยงท่อนพันธุ์ที่อ่อนเกินไป ก่อนปลูกควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรานาน 15 – 20 นาที โดยเลือกใช้สารเคมีดังนี้

ตารางที่1 สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา Phoma eupyrena

ชื่อสามัญ อัตราต่อน้ำ20 ลิตร
โปรคลอราซ (prochloraz 45% EC) 10 ซีซี
แมนเซ็ป (mancozeb 80% WP) 60 กรัม
ไพราโคสโตรบิน (pyraclostrobim 25% EC) 20 ซีซี
เมทาแลคซิล+แมนโคเซ็ป (metalaxyl+mancozeb 4%+64% WP) 80 กรัม
ฟลูโอไพแรม+ทีบูโคลนาโซน

(fluopyram+tebuconazole 20%+20% W/V SC)

10 ซีซี

หากไม่ทำการแช่ท่อนพันธุ์ และพบว่ามีการแพร่ระบาดรุนแรงในระยะ 1-2 เดือนหลังปลูก ควรพ่นสารกำจัดโรคดังตารางที่ 1 ให้ทั่วทั้งต้น (สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, 2559)[29]

โรคพุ่มแจ้ (witches broom)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ลักษณะอาการแตกยอดมีลักษณะเป็นพุ่มของโรคแตกพุ่มแจ้ของมันสำปะหลัง

เชื้อสาเหตุเกิดจากเชื้อ ไฟโตพลาสมา (Phytoplasma) พบการระบาดครั้งแรกในไป พ.ศ. 2557 ที่จังหวัดระยอง ต่อมาพบการระบากในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังภาคตะวันออก และบางอำเภอในจังหวัดกำแพงเพชร และนครราชสีมา

ลักษณะอาการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

บริเวณยอกจะมีการแตกยอดมากกว่าปกติ ข้อปล้องสั้น และใบมีขนาดเล็กลง สังเกตได้จากยอดมีลักษณะเป็นพุ่ม เมื่อทำการลอกเปลือกออกดูจะพบใต้เปลือกมีเส้นสีดำเป็นแนวยาว ส่งผลให้แสดงอาการยอดเป็นพุ่ม ใบเหลือง และยืนต้นตายในที่สุด  ในระยะมันสำปะหลังอายุ 4-5 เดือน พบต้นมีลักษณะแคระแกรนแตกยอดเป็นพุ่มฝอย ในระยะเก็บเกี่ยวเชื้อลามลงหัว ทำให้หัวมีเส้นสีดำตามแนวยาวอยู่ใต้เปลือก คุณภาพผลผลิตเสียหาย และเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ

การแพร่ระบาด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เชื้อสามารถแพร่ระบาดไปได้กับท่อนพันธุ์ และมีแมลงพาหะเป็นเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล

การป้องกันกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ใช้ท่อนพันธุ์ปลอดโรค โดยเลือกจากแหลงที่ไม่มีการแพร่ระบาด เมื่อปลูกในระยะ 1 เดือนหากพบต้นที่แตกยอดเป็นพุ่มผิดปกติให้ทำการถอนทิ้งทันที ในระยะ 4 เดือนหลังปลูก หากพบต้นที่แตกพุ่ม ให้หักกิ่งต่ำลงจากยอดพุ่มประมาณ 30 เซนติเมตร ทิ้งและพ่นสารกำจัดแมลงให้ทั่วแปลง เนื่องจากโรคนี้สามารถถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ จากนั้นทำการกำจัดวัชพืชทั้งในและโดยรอบแปลง โดยเฉพาะสาบม่วง ที่เป็นแหล่งอาศัยของโรค และทำการบำรุงรักษาต้นมันสำปะหลัง โดยการให้น้ำ ปุ๋ย และปรุบปรุงดินอย่างเหมาะสม เพื่อให้ต้นแข็งแรง (สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, 2559)[30]

โรคเน่าเปียก (Wet rot)[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

แสดงลักษณะอาการของโรคเน่าเปียกในมันสำปะหลัง

เชื้อสาเหตุเกิดจาก เชื้อรา Choanephora sp.

ลักษณะอาการ[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

เชื้อราเข้าทำลายส่วนของปลายยอด ขอบใบ หรือส่วนที่เป็นแผลเนื้อเยื่อยุบตัวลง จะสังเกตเห็นเส้นใยสีเทา ก้านชูสปอร์และมีสปอร์สีดำ ระบาดมากในฤดูฝนโดยเฉพาะ หากมีอากาศร้อนจัดแล้วฝนตกจะพบอาการลุกลามอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อสาเหตุมักเข้าทำลายซ้ำเติมร่วมกับโรคใบไหม้ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยพบเชื้อราเจริญอยู่บนใบที่มีอาการไหม้

การแพร่ระบาด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

พบการแพร่ระบาดด้วยวิธีการสร้างสปอร์สามารถปลิวไปกับลมและฝนได้

การป้องกันกำจัด[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราในกลุ่ม Zygomycota หรือในกลุ่มราชั้นต่ำ เช่น ไทอะเบนดาโซล (thiabendazole) แมนโคแซบ (mancozeb) (อุดมศักดิ์, 2555)[31]


อ้างอิง[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

  1. Hillocks, R.J., M.J. Thresh and C.A. Bellotti. 2002.  Cassava: Biology, Production and Utilization. CABI Publishing. London, UK.
  2. กลุ่มวิจัยโรคพืช.  2559. ดรรชนีโรคพืชในประเทศไทย. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.
  3. อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช.  2555. โรคและแมลงศัตรูของมันสำปะหลัง. สุพรีมพริ้นท์ จำกัด, กรุงเทพฯ.
  4. ศานิต สวัสดิกาญจน์.  2557.  พืชอุตสาหกรรม(Industrial Field crops).  โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์. กรุงเทพมหานคร.
  5. ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ.  2563. วิเคราะห์สถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลัง. สำนักงานเศรษฐกิจเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ. ที่มา: https://www.nabc.go.th/disaster/baidang. 8 กุมภาพันธ์ 2564.
  6. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2556) เทคโนโลยี 52 สัปดาห์ มันสำปะหลัง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ.
  7. เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์. 2532.  มันสำปะหลัง การปลูก อุตสาหกรรมแปรรูป และการใช้ประโยชน์. ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  8. เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ ปิยะวุฒิ พูลสงวน สมยศ พุทธเจริญ จำลอง เจียมจำนรรจา             ลมัย ศรีจันทร์ดี และวิทยา แสงแก้วสุข.  2529.  ความสำคัญทางเศรษฐกิจของโรคใบจุดสีน้ำตาลของมันสำปะหลังในประเทศไทย.  ใน การประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 24.
  9. ศานิต สวัสดิกาญจน์.  2557.  พืชอุตสาหกรรม(Industrial Field crops).  โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์. กรุงเทพมหานคร.
  10. รัตติกาล สู้ภัยพาล และ ณัฐวุฒิ ศิริมานะ.  2555.  การประเมินระดับความรุนแรงของโรคพืชด้วยการวิเคราะห์ภาพ. โครงงานวิศวกรรมเกษตร. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, นครปฐม
  11. Charles, C.  1953.  A monograph of the fungi genus Cercospora. Plant pathology. 667 p.
  12. Pattana, S., P Prapaisri, C. Wirat and G. Piya.  1980. Plant Pathogenic Cercosporae in Thailand. Plant pathology and Microbiology Division Department of Agriculture.  Ministry of agriculture and Cooperatives, Bangkok
  13. Vasudeva, R.S.  1963.  Indian Cercosporae. Indian Council of Agricultural Research, New Deli.
  14. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2556) เทคโนโลยี 52 สัปดาห์ มันสำปะหลัง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ.
  15. ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ.  2563. วิเคราะห์สถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลัง. สำนักงานเศรษฐกิจเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ. ที่มา: https://www.nabc.go.th/disaster/baidang. 8 กุมภาพันธ์ 2564.
  16. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร.  2563.  สศก. ลุยโคราช แหล่งระบาดใหญ่ โรคใบด่างมันฯ แนะเกษตรกรหมั่นสังเกต หากพบรีบแจ้ง จนท./ผู้นำชุมชน. กระทรงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ. ที่มา: http://www.oae.go.th/view/1/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%20%E0%B8%AA%E0%B8%A8%E0%B8%81./34863/TH-TH. 8 กุมภาพันธ์ 2564.
  17. โสภณ วงศ์แก้ว.  2560.  ไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง: วายร้ายระดับโลก.
  18. อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช.  2555. โรคและแมลงศัตรูของมันสำปะหลัง. สุพรีมพริ้นท์ จำกัด, กรุงเทพฯ.
  19. วันวิสา ศิริวรรณ์.  2561.  โรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง. ที่มา: https://www.tapiocathai.org/P.html. วันที่สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2563.
  20. สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช.  2561.  คู่มือการสำรวจและเฝ้าระวังโรคใบด่างของมันสำปะหลัง. กรมวิชาการเกษตร. กรุงเทพฯ.
  21. สำนักงานข่าวประชาสัมพันธ์.  2563. เตือนเกษตรกร เฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง. ที่มา: https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG200810184913696. วันที่สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2564.
  22. กรมวิชาการเกษตร.  ม.ป.ป. โรคใบด่างมันสำปะหลัง. เอกสารวิชาการ: แนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง. กรุงเทพฯ.
  23. สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช.  2559. คู่มือการจัดการ ปัญหาศัตรูมันสำปะหลังแบบผสมผสาน. การันตี, กรุงเทพฯ.
  24. สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช.  2559. คู่มือการจัดการ ปัญหาศัตรูมันสำปะหลังแบบผสมผสาน. การันตี, กรุงเทพฯ.
  25. อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช.  2555. โรคและแมลงศัตรูของมันสำปะหลัง. สุพรีมพริ้นท์ จำกัด, กรุงเทพฯ.
  26. สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช.  2559. คู่มือการจัดการ ปัญหาศัตรูมันสำปะหลังแบบผสมผสาน. การันตี, กรุงเทพฯ.
  27. นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด.  2016.  โรครากปม. ที่มา: http://microorganism.expertdoa.com/disease_1_%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A1.php. กรรมวิชาการเกษตร. วันที่ 5 พฤษภาคม 2564
  28. สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช.  2559. คู่มือการจัดการ ปัญหาศัตรูมันสำปะหลังแบบผสมผสาน. การันตี, กรุงเทพฯ.
  29. สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช.  2559. คู่มือการจัดการ ปัญหาศัตรูมันสำปะหลังแบบผสมผสาน. การันตี, กรุงเทพฯ.
  30. ลักษณะอาการของโรคลำต้นไหม้บริเวณลำต้นของมันสำปะหลัง
  31. อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช.  2555. โรคและแมลงศัตรูของมันสำปะหลัง. สุพรีมพริ้นท์ จำกัด, กรุงเทพฯ.