การจัดการโรค
มันสำปะหลังจัดเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย และมีการดูแลรักษาไม่ยุ่งยากเหมือนพืชชนิดอื่น นอกจากนี้ยังสามารถปลูกได้ดีในสภาพอากาศของประเทศไทย สามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วง 8 - 12 เดือนหลังปลูก แต่พอว่าการศึกษาเกี่ยวกับโรคของมันสำปะหลังที่ผ่านมายังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก อาจเนื่องมาจากยังไม่มีการระบาดที่ทำความเสียหายได้อย่างชัดเจน เหมือนกับการทำลายของแมลง ประกอบกับการเข้าใจผิดที่ว่ามันสำปะหลังไม่มีโรครบกวน แต่ที่จริงแล้วมีโรคไม่น้อยที่เกิดขึ้นในมันสำปะหลัง (Hillocks et. al., 2002)[1] โดยมีสาเหตุมาจากสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ได้แก่ โรคใบไหม้ โรคแอนแทรคโนส โรคใบจุดสีน้ำตาล โรครากเน่าและหัวเน่า โรคเน่าเปียก โรครากปม (กลุ่มวิจัยโรคพืช, 2559[2]; อุดมศักดิ์, 2555[3]; ศานิต, 2557)[4] และอาการขาดธาตุในมันสำปะหลัง ในปัจจุบันพบว่าโรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava Mosaic Virus หากมีการระบาดรุนแรงสามารถส่งผลกระทบต่อผลผลิตมันสำปะหลังได้มากถึงร้อยละ 80 – 100 (ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ, 2563)[5]
- โรคใบไหม้ (Cassava bacterial blight)
- โรคใบจุดสีน้ำตาล (brown leaf spot disease)
- โรคใบด่างมันสำปะหลัง (Cassava mosaic disease)
- โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose)
- โรครากเน่าและหัวเน่า (Root and tuber rot)
- โรครากปมมันสำปะหลัง (cassava Root-knot)
- โรคลำต้นไหม้ (stem blight disease)
- โรคพุ่มแจ้ (witches broom)
- โรคเน่าเปียก (Wet rot)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis pv. Manihotis (ชื่อเดิม X. campestris pv. manihotis) พบว่ามีรายงานการแพร่ระบาดมาจากลาตินอเมริกาตั้งแต่ก่อนปี 1900 ต่อมาได้แพร่ระบาดไปยังทวีปแอฟริกา และแพร่ระบาดเข้ามาในทวีปเอเชียในปี 1970 รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ในทวีปแอฟริกาโรคนี้มีความสำคัญรองลงมาจากโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยทำให้ผลผลิตเสียหาย 7.5 ล้านตันต่อปี
ลักษณะอาการ
โรคใบไหม้ (Cassava bacterial blight) อาการเริ่มแรกใบจะมีลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำอยู่ระหว่างเส้นใบ จุดหรือแผลใบจึงมีรูปร่างเป็นเหลี่ยม เมื่ออาการพัฒนามากขึ้นจึงทำให้ใบไหม้และมีหยดเชื้อสีขาวขุ่นอยู่ใต้ใบซึ่งเป็นกลุ่มของแบคทีเรีย (bacterial ooze) อาการของโรคส่วนมากเกิดกับใบที่อยู่ส่วนกลางของทรงพุ่มใกล้ระดับดินก่อน เมื่อเชื้อลุกลามเข้าสู่ก้านใบทำให้ใบเหี่ยว หลุดร่วง และทำให้แห้งตายได้ เมื่อผ่าดูระบบท่อน้ำท่ออาหารของลำต้นจะมีสีคล้ำ เนื่องจากเนื้อเยื่อถูกทำลาย ในต้นที่มีอาการรุนแรงจะพบอาการยางไหลบนก้านใบหรือลำต้นที่ยังอ่อนได้อีกด้วย
การแพร่ระบาด
เชื้อแบคทีเรียสามารถติดไปกับท่อนพันธุ์และเมล็ดพันธุ์จากต้นที่เป็นโรค โดยส่วนมากจะพบโรคในฤดูฝน และแพร่ระบาดมากในช่วงนี้ เชื้อสาเหตุสามารถอยู่ในดินที่มีเศษซากมันสำปะหลังได้นาน 21-49 วัน จากการสำรวจพบว่ามันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 มีความอ่อนแอต่อโรคใบไหม้มากกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และห้วยบง 80
การป้องกันกำจัด
เลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่ปราศจากโรคใบไหม้ เตรียมแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี วางระยะปลูกให้เหมาะสมไม่ควรปลูกหนาแน่นเกินไป กำจัดชิ้นส่วนมันสำปะหลังที่เป็นโรคออกจากแปลง และอาจใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ฉีดป้องกันโรคก่อนถึงฤดูฝน (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[6]
อ้างอิง
- ↑ Hillocks, R.J., M.J. Thresh and C.A. Bellotti. 2002. Cassava: Biology, Production and Utilization. CABI Publishing. London, UK.
- ↑ กลุ่มวิจัยโรคพืช. 2559. ดรรชนีโรคพืชในประเทศไทย. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.
- ↑ อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช. 2555. โรคและแมลงศัตรูของมันสำปะหลัง. สุพรีมพริ้นท์ จำกัด, กรุงเทพฯ.
- ↑ ศานิต สวัสดิกาญจน์. 2557. พืชอุตสาหกรรม(Industrial Field crops). โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์. กรุงเทพมหานคร.
- ↑ ศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ. 2563. วิเคราะห์สถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลัง. สำนักงานเศรษฐกิจเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ. ที่มา: https://www.nabc.go.th/disaster/baidang. 8 กุมภาพันธ์ 2564.
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2556) เทคโนโลยี 52 สัปดาห์ มันสำปะหลัง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ.