หลักการพิจารณาการใส่ปุ๋ยมันสำปะหลัง

จาก Cassava
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

1 ชนิดปุ๋ย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

โดยทั่วไปมันสำปะหลังต้องการธาตุปุ๋ยทั้ง 3 ชนิด ซึ่งได้แก่

ไนโตรเจน (N) ผลการทดลองขององค์การอาหารและเกษตรแห่งประชาชาติ พบว่า มันสำปะหลังมีการตอบสนองกับปุ๋ยไนโตรเจน ที่ระดับ 8 – 16 กก./ไร่ เมื่อใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณที่สูงจะส่งผลให้ส่วนยอดของมันสำปะหลังเติบโตมากจนเกินไป อีกทั้งยังไปกระตุ้นการสร้างสารพิษไฮโดรยาไนด์ ซึ่งจะไปลดปริมาณการสะสมของแป้ง อีกทั้งยังทำให้มันสำปะหลังไม่ต้านทานโรคบางโรค เช่น โรคใบไหม้ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนจำเป็นต้องปรับปริมาณให้เหมาะสมกับสภาพดิน และปริมาณความต้องการปุ๋ยของมันสำปะหลังแต่ละพันธุ์ ลักษณะการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนจะต้องใส่เป็นจุด หรือใส่เป็นแถบใกล้ๆต้นพืช เพื่อให้มันสำปะหลังได้รับปุ๋ยอย่างเต็มที่ และป้องกันไม่ให้วัชพืชได้รับผลประโยชน์จากปุ๋ย

การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน (N)

·     ในสภาพดินเกือบทุกชนิด การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณ 12.8 – 19.2 กก./ไร่ ช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่มันสำปะหลังได้ สามารถใส่ปุ๋ยครั้งเดียวตอนปลูก หรือ 30 วันหลังจากการปลูก

·     ในสภาพดินที่เป็นดินทราย ระบายน้ำได้ดี ควรมีการแบ่งการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเป็น 2 ครั้ง คือ ใส่ครั้งแรกครึ่งหนึ่งพร้อมการปลูก ครั้งที่ 2 เมื่อมันสำปะหลังมีอายุครบ 1 – 2 เดือน หรือ แบ่งใส่ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกใช้ 1/3 ของจำนวนปุ๋ยไนโตรเจนทั้งหมดที่ใช้สำหรับการปลูก ครั้งที่ 2 ใช้ 1/3 เมื่อมันสำปะหลังอายุครบ 30 วัน และครั้งที่ 3 ใช้อีก 1/3 เมื่ออายุครบ 60 วัน

ข้อควรระวัง

·     ปุ๋ยไนโตรเจนละลายได้ดีในสารละลายในดิน ควรใช้จอบขุดร่องข้างๆ สำหรับใส่ปุ๋ยจากนั้นใช้ดินกลบ ไม่ควรปล่อยให้ปุ๋ยไนโตรเจนทิ้งค้างอยู่บนผิวดิน เนื่องจากปุ๋ยส่วนหนึ่งจะระเหย หรือถูกน้ำชะล้างไป


ฟอสฟอรัส (P) มันสำปะหลังสามารถเติบโตได้ดีในสภาพดินที่มีปริมาณฟอสฟอรัสต่ำ ซึ่งการขาดฟอสฟอรัสไม่ใช่ปัญหาหลักของการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง ซึ่งการตอบสนองต่อปุ๋ยฟอสฟอรัสไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดิน ยังขึ้นอยู่กับปริมาณไมโคไรซาในดิน และพันธุ์มันสำปะหลังด้วย

การใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัส (P)

·     มันสำปะหลังสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีฟอสฟอรัสต่ำ

·     ในดินที่ขาดปริมาณฟอสฟอรัสอย่างรุนแรง มีปริมาณฟอสฟอรัสที่พืชสามารถนำไปใช้ได้น้อยกว่า 4 พีพีเอ็ม (ppm) ซึ่งมันสำปะหลังจะตอบสนองต่อปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ใส่ประมาณ 16-32 กก. P2O2/ไร่ ในช่วงแรก แต่หลังจาก 1 – 2 ปีแรกควรลดอัตราลงเป็น 6.4 – 8 กก. P2O2/ไร่ เนื่องจากจะมีปริมาณฟอสฟอรัสค้างอยู่ในดิน

·     ปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ดีจะละลายน้ำได้ดี เช่น ซิงเกิ้ล - หรือ ทริปเปิ้ล – ซุปเปอร์ฟอสเฟต และโมโน – หรือ ได – แอมโมเนียมฟอสเฟต (ซึ่งมี N ประกอบด้วย) ควรใส่โรยเป็นแถบใกล้ๆ ท่อนพันธุ์ หรือต้นมันสำปะหลัง จากนั้นพรวนดินกลบ

·     ปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ละลายได้น้อยเรียกว่า เบสิคสะแลค วิธีใช้จะต้องหว่านบนแปลงให้ถั่ว จากนั้นไถคลุกเคล้าลงไปในดินก่อนปลูกมันสำปะหลัง แหล่งปุ๋ยชนิดนี้จะมีแคลเซียม (Ca) ปริมาณมาก จะช่วยลดความเป็นกรดของดินลง (เพิ่มค่า pH)

·     ควรใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสทั้งหมดครั้งเดียวในขณะที่ปลูก หรือหลังจากปลูกมันสำปะหลังแล้ว 30 วัน เนื่องจากการแบ่งใส่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ


โพแทสเซียม (K) การใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิต และปริมาณการสะสมของแป้งในหัวมันสำปะหลัง โดยทั่วไปปริมาณแป้งจะสะสมเพิ่มขึ้นเมื่อใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมจนถึงระดับ 12.8 กก. K2O/ไร่ จากนั้นปริมาณแป้งจะลดลงเมื่อใช้อัตราสูงขึ้นไปกว่านี้

การใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมจะลดปริมาณไซยาไนด์หัวมันสำปะหลัง อีกทั้งช่วยเพิ่มต้านทานโรค และแมลง ปริมาณโพแทสเซียมที่เพียงพอ ยังช่วยในการเจริญเติบโตของลำต้น และคุณภาพของท่อนพันธุ์ด้วย อาการขาดแคลนปุ๋ยโพแทสเซียมมักจะเกิดในดินที่มีเนื้อโปร่งบาง เช่นดินร่วนทราย ดินทราย

การใช้ปุ๋ยโพแทสเซียม (K)

·     ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใส่โพแทสเซียมที่เหมาะสมที่สุดคือใส่ในขั้นตอนการปลูก หรือหลังจากนั้น 30 วัน โดยโรยเป็นแถบข้างท่อนพันธุ์ หรือต้นมันสำปะหลัง จากนั้นพรวนดินกลบ

·     การป้องกันไม่ให้ปุ๋ยโพแทสเซียมหมดไป แนะนำให้ใส่ในปริมาณ 12.8 – 19.2 กก. K2O/ไร่ เพื่อชดเชยปุ๋ยโพแทสเซียมที่มันสำปะหลังนำไปผลิตเป็นหัว

ธาตุอาหารที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นธาตุอาหารหลักที่สำคัญของมันสำปะหลัง สัดส่วนของธาตุปุ๋ยหลักจะขึ้นอยู่กับสมบัติดินและผลวิเคราะห์ดิน ชนิดปุ๋ยที่แนะนำประกอบด้วย

·     ปุ๋ยสูตร 15-7-18 หรือ 16-8-16 (เรโช 2:1:2 หรือ 2:1:3 หรือ 3:1:2) ขึ้นอยู่กับราคาต่อหน่วยของเนื้อปุ๋ย ใช้กับดินทั่วไปที่มีปริมาณธาตุปุ๋ยต่ำ หรือดินที่มีการปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน เหมาะสำหรับดินทราย ดินร่วนทราย ดินร่วนเหนียว ฯลฯ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 แนะนำให้ใช้ในดินเหนียวปนกรวด เพราะมีสมบัติตรึงธาตุฟอสฟอรัส (P-fixation) สูง ทำให้ดึงธาตุฟอสฟอรัสไว้กับดิน พืชดึงไปใช้ได้ยาก จึงต้องใส่ธาตุฟอสฟอรัสมาก

2 อัตราปุ๋ย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

อัตราปุ๋ยที่แนะนำโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับสมบัติดิน และพันธุ์มันสำปะหลัง พันธุ์ที่ตอบสนองต่อปุ๋ยในอัตราสูงได้ดี ได้แก่ พันธุ์ห้วยบง 80  ระยอง 5  ระยอง 7 ระยอง 9 และระยอง 11 อัตราที่แนะนำส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 30-100 กิโลกรัมต่อไร่ หากเป็นการใส่ในอัตราสูงเช่น 100 กิโลกรัมต่อไร่ ควรมีการแบ่งใส่เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียปุ๋ยโดยการชะละลายออกจากเขตรากมันสำปะหลังเมื่อมีฝนตกหนัก โดยปกติหากมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วย ในอัตรา 1-2 ตันต่อไร่ ควรลดปริมาณปุ๋ยเคมีลงมาครึ่งหนึ่งของอัตราที่ใส่ปุ๋ยเคมีชนิดเดียว รายละเอียดอัตราปุ๋ยตามลักษณะดิน มีดังนี้

·     ดินเหนียว ใส่ในอัตรา 30-40 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ครั้งเดียว

·     ดินร่วนเหนียว ใส่ในอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ครั้งเดียว

·     ดินทราย ดินร่วน ดินร่วนปนทราย และดินทรายปนดินร่วน ใส่ในอัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง

3 ระยะเวลาใส่ปุ๋ย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การใส่ปุ๋ยมันสำปะหลังมีระยะเวลาการใส่ดังนี้

·     กลุ่มดินเนื้อปานกลางและเนื้อละเอียด ควรใส่ครั้งเดียว เมื่อมันสำปะหลังอายุประมาณ 1-2 เดือนหลังปลูก ให้พิจารณาจากขนาดของทรงพุ่ม โดยควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของทรงพุ่มประมาณ 25-30 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชื้น และการเตรียมดินว่ามีผลทำให้การเจริญเติบโตรวดเร็วเพียงใด

·     กลุ่มดินเนื้อหยาบ ควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อมันสำปะหลังอายุได้ 1-2 เดือน และครั้งที่สองควรทิ้งระยะห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 2 เดือน แต่ไม่ควรใส่ปุ๋ยหลังจากมันสำปะหลังอายุเกิน 4 เดือน เนื่องจากรากมันสำปะหลังจะเปลี่ยนจากรากหาอาหารไปเป็นรากสะสมอาหารทำให้ประสิทธิภาพการดูดใช้ปุ๋ยลดน้อยลง

         ข้อควรระวังในการใส่ปุ๋ยคือ จะต้องมีการกำจัดวัชพืชก่อนการใส่ปุ๋ยเสมอเพื่อไม่ให้วัชพืชแก่งแย่งปุ๋ยที่ใส่ลงไปจากมันสำปะหลัง ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของวัชพืช

4 วิธีการใส่ปุ๋ย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

วิธีการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม ควรใส่ปุ๋ยตรงสันร่อง 2 ข้างลำต้นบริเวณขอบทรงพุ่ม (ขึ้นอยู่กับอายุพืชและขนาดของทรงพุ่ม) โดยการใช้จอบขุดเป็นหลุมขนาดเล็กลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร แล้วใช้ดินกลบ หากไม่กลบอาจทำให้เกิดการสูญเสียปุ๋ยมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์การใส่ปุ๋ยเคมีต้องดำเนินการในขณะที่ดินมีความชื้น และต้องกลบปุ๋ยด้วย การใส่ปุ๋ยรองพื้นมันสำปะหลังไม่ควรทำเพราะรากมันสำปะหลังยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะดูดใช้ได้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีฝนตกค่อนข้างมากหลังจากการเสียบท่อนพันธุ์ ส่วนการใส่ปุ๋ยด้านข้างร่องอาจจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน โดยการโรยและไถกลบ แต่ไม่เหมาะสมกับมันสำปะหลังพันธุ์แนะนำที่มีระยะปลูกระหว่างต้นประมาณ 80-100 เซนติเมตร เพราะปลายรากพืชไม่สามารถดูดใช้ปุ๋ยได้ทั่วถึง และหากฝนตกแล้วมีการไหลของน้ำในร่องมันสำปะหลังก็จะทำให้เกิดการสูญเสีย สำหรับการหว่านปุ๋ยไม่แนะนำโดยสิ้นเชิงสำหรับการปลูกมันสำปะหลัง (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[1]

5 วิธีการเลือกซื้อปุ๋ย[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

การเลือกซื้อปุ๋ยให้ได้คุณภาพมีวิธีการเลือกซื้อดังนี้

  1. ตามพระราชบัญญัติปุ๋ยปี พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับ 2) ปี พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการเขียนข้อความที่สำคัญต่างเป็นภาษาไทย หรือที่เรียกว่า “ฉลากปุ๋ย” ไว้ที่กระสอบปุ๋ยให้เด่นชัด คือ
    1. ชื่อทางการค้าและมีคำว่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน หรือปุ๋ยอินทรีย์เคมีแล้วแต่กรณี
    2. เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายอื่นใด แสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมี
    3. ปริมาณธาตุอาหารรับรอง
    4. น้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยเคมีตามระบบเมตริก
    5. ชื่อผู้ผลิต และที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า
    6. ชื่อทางเคมีและปริมาณของสารเป็นพิษที่อยู่ในปุ๋ยเคมี (ทัศนีย์ และ ประทีป. 2552)[2]
  2. ตรวจสอบเลขทะเบียนของปุ๋ยที่ขึ้นกับกรมวิชาการเกษตรด้วยแอพเคชั่นของกรมวิชาการเกษตร บนช่องทางเครื่องมือสื่อสาร
    ภาพแสดงรูปแบบของ application DOA Agri Factor
  3. ไม่หลงเชื้อคำโฆษณาชวนเชื่อ เกินราคา เกินความจริง เช่น ใช้ซองเดียวข้าวได้เป็นตันๆ
  4. เกษตรกรควรมีความรู้ เพื่อป้องกันการโดนหลอกขายปุ๋ย ขายยา โดยสามารถหาความรู้ได้ทางช่องทางอินเตอร์เน็ต หรือตามหน่วยงานด้านการเกษตร ทราบถึงธาตุอาหารที่พืชต้องการ ระยะเวลาการใส่ปุ๋ย ปริมาณที่พอเหมาะ
  5. ไม่หลงเชื่อคำพูดของของเกษตรกรผู้ปลูกด้วยกันง่ายๆ อาจเพราะการบอกว่าใช้ดีอาจหมายถึงเป็นตัวแทนขาย หรือได้รับผลประโยชน์
  6. ไม่หลงเชื่อโฆษณาตามอินเตอร์เน็ต หรือวิทยุได้ง่ายๆ (ควายดำทำเกษตร, 2563)[3]

อ้างอิง[แก้ไข | แก้ไขต้นฉบับ]

                  

  1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2556) เทคโนโลยี 52 สัปดาห์ มันสำปะหลัง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ.
  2. ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และ ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์. 2552.  ธรรมชาติของดินและปุ๋ย. ครั้งที่ 7 หจก. กร ครีเอชั่น. กรุงเทพฯ.
  3. ควายดำทำเกษตร. 2563. ทำอย่างไรไม่ให้โดนหลอกซื้อ. ที่มา: https://www.facebook.com/blackbuffalofarmer/posts/1213896028960629. วันที่สืบค้น 20 มีนาคม 2564.