การจัดการแมลง
ในอดีตปัญหาเกี่ยวกับแมลงศัตรูที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทานและปรับตัวได้ดี แต่ปัจจุบันมีการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพู (เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง) ในมันสำปะหลังและกลายเป็นปัญหาที่สำคัญ โดยมีรายงานการระบาดเมื่อต้นปี 2551 และแพร่กระจายไปยังแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญ เช่น จังหวัดกำแพงเพชร ระยอง ชลบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครราชสีมา สาเหตุสำคัญของการระบาดอย่างกว้างขว้างคือ การใช้ท่อนพันธุ์ที่มีเพลี้ยแป้งไปปลูกโดยไม่มีการจัดการท่อนพันธุ์ให้ปราศจากแมลงก่อน ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังในปี 2552 ที่คาดว่าจะมีถึง 27 ล้านตัน ลดลงเหลือประมาณ 19 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจมันสำปะหลังเป็นอย่างมาก (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[1]
การเข้าทำลายต้นมันสำปะหลังของตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยแป้ง (Mealybugs) โดยการใช้ส่วนของปาก (stylet) ที่มีลักษณะเป็นท่อยาวดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ เช่น ใบ ยอด ขณะเดียวกันเพลี้ยแป้งจะถ่ายมูลทำให้เกิดราดำบนต้นพืช ทำให้พืชสังเคราะห์แสงได้น้อยลง เจริญเติบโตได้ไม่เติมที่ ลำต้นมีช่วงข้อถี่และบิดงอ ยอดแห้งตาย หรือยอดแตกพุ่ม มีผลกระทบต่อการสร้างหัว และหากระบาดในขณะพืชมีอายุน้อยหรือต้นขนาดเล็ก อาจทำให้ต้นตายได้ พบเพลี้ยแป้งระบาดมากในช่วงฤดูแล้ง นอกจากเพลี้ยแป้งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพแล้วยังทำให้ขาดแคลนท่อนพันธุ์อีกด้วย เพลี้ยแป้งที่เข้าทำลายมันสำปะหลังมี 4 ชนิด คือ เพลี้ยแป้งลาย เพลี้ยแป้งแจ๊คเบียดเลย์ เพลี้ยแป้งสีเขียว และเพลี้ยแป้งสีชมพู (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[2]
เพลี้ยแป้งลาย
เพลี้ยแป้งลาย (Striped mealybug; Ferrisia virgata Cockerell) มีลักษณะรูปร่างลำตัวคล้ายลิ่ม ผนังลำตัวสีเทา มีผงแป้งปกคลุมลำตัวยาวเป็นเงาคล้ายเส้นใยแก้ว มีแถบดำบนลำตัว 2 แถบชัดเจน ปลายท้องมีหางคล้ายเส้นแป้ง 2 เส้น ยาวครึ่งหนึ่งของลำตัว พบการระบาดของเพลี้ยแป้งชนิดนี้ทั่วไปในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง นอกจากนี้ยังพบการเข้าทำลายในพืชหลายชนิด เช่น มะละกอ น้อยหน่า และไม้ดอกบางชนิด เช่น ชบา เป็นต้น ที่ผ่านมาการระบาดของเพลี้ยแป้งชนิดนี้ยังไม่ถึงระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการควบคุมด้วยศัตรูธรรมชาติคือตัวห้ำและตัวเบียนอย่างสมดุล (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[2]
เพลี้ยแป้งแจ๊คเบียดเลย์ (เพลี้ยแป้งสีเทา)
เพลี้ยแป้งแจ๊คเบียดเลย์ (Jack-beardsley mealybug; Pseudococcus jackbeardsleyi Gimpel & Miller) มีลักษณะลำตัวรูปไข่และค่อนข้างแบน ผนังลำตัวสีเทาอมชมพู มีผงแป้งสีขาวปกคลุมลำตัว ด้านข้างลำตัวมีเส้นแป้งเรียงกันจำนวนมาก เส้นแป้งที่ปลายส่วนท้องยาวกว่าเส้นแป้งข้างลำตัว พบระบาดทั่วไปในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ชอบอยู่บริเวณโคนต้นหรือในดิน (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[2]
เพลี้ยแป้งเขียว
เพลี้ยแป้งสีเขียว (Madeira mealybug; Phenococcus madeiresis Green) มีลักษณะลำตัวรูปไข่และค่อนข้างแบน ผนังลำตัวสีเขียวอมเหลือง มีผงแป้งสีขาวปกคลุมบาง ๆ บนลำตัว ด้านข้างลำตัวมีเส้นแป้งสั้น เส้นแป้งที่ปลายส่วนท้องยาวกว่าเส้นแป้งข้างลำตัว และที่ลำตัวมีสันนูน 3 แนว ตามความยาวของลำตัว เส้นที่นูนที่สุดอยู่ตรงกลางลำตัว ถุงไข่ของเพลี้ยแป้งสีเขียวอยู่ส่วนหลังบนลำตัว อายุของตัวเต็มวัยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ หากที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส จะมีอายุประมาณ 30 วัน ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส จะมีอายุประมาณ 46 วัน เพลี้ยแป้งสีเขียวชอบดูดกินอยู่บริเวณใบแก่ พบระบาดในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังบางพื้นที่ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[2]
เพลี้ยแป้งสีชมพู
เพลี้ยแป้งสีชมพู (Pink mealybug; Phenococcus manihoti Matile&Ferrero) มีลักษณะลำตัวรูปไข่ ผนังลำตัวสีชมพู มีผงแป้งสีขาวปกคลุมลำตัว ด้านข้างลำตัวมีเส้นแป้งสั้นหรือไม่ปรากฏให้เห็น เส้นแป้งที่ปลายส่วนท้องค่อนข้างสั้น ขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ วางไข่อยู่ในถุงไข่ อยู่เป็นกลุ่ม เพลี้ยแป้งชนิดนี้เป็นชนิดที่สร้างความเสียหายแก่มันสำปะหลังมากที่สุด พบระบาดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2516 ที่ประเทศคองโก มีการใช้แตนเบียนควบคุมโดยใช้เวลานานกว่า 10 ปี จึงสามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพูได้ สำหรับประเทศไทยเพลี้ยแป้งชนิดนี้เริ่มระบาดในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเมื่อปี พ.ศ. 2551 และต่อมาได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลังอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายในระดับเศรษฐกิจในทุกพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลัง (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[2]
การประเมินการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง
โดยทั่วไปหลังปลูกมันสำปะหลัง 1 เดือน เกษตรกรจะต้องมีการสำรวจการระบาดของเพลี้ยแป้ง ทุก ๆ 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะตามแนวขอบแปลงที่ติดกับแปลงมันสำปะหลังข้างเคียง ประมาณ 3 แถวแรก โดยตรวจนับทุกต้น ถ้าพบต้นมันสำปะหลังแสดงอาการยอดหงิก แสดงว่ามีการระบาดของเพลี้ยแป้งเกิดขึ้น ให้สำรวจเพิ่ม โดยแปลงที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไร่ ให้สำรวจอย่างน้อย 50 ต้น เดินสำรวจแถวเว้นแถว แถวละ 10 ต้น ถ้าแปลงมีขนาดใหญ่กว่า 10 ไร่ ให้เพิ่มจำนวนต้นที่สำรวจ และให้คะแนนระดับความรุนแรงตามจำนวนเพลี้ยแป้งที่ตรวจพบ ดังตารางที่ 13.1
ระดับความรุนแรง | จำนวนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเฉลี่ย (ตัว/ต้น) |
---|---|
0 | 0 |
1 | 1 - 25 |
2 | 26 - 50 |
3 | 51 - 75 |
4 | 76 - 100 |
5 | มากกว่า 100 |
การประเมินการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งในแปลงมันสำปะหลังดังกล่าว จะทำให้สามารถป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[2]
การป้องกันกำจัด
การป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งในแปลงมันสำปะหลังต้องเริ่มตั้งแต่การไถพรวนเตรียมพื้นที่ให้ดีก่อนปลูก เพื่อให้มันสำปะหลังงอกได้ดี เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเพลี้ยแป้งเข้าทำลายได้น้อยลง แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารในกลุ่ม neonicotinoid ก่อนปลูก เช่น สารอิมิดาคลอพริด (imidacloprid) ไดโนทีฟูแรน (dinotefuran) หรือไทอะมีโทแซม (thiamethoxam) เป็นต้น หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ที่จะทำให้มันสำปะหลังกระทบแล้งยาวนาน หากเพลี้ยแป้งเข้าทำลายต้นมันสำปะหลังในขณะยังเล็กอยู่ ให้เก็บส่วนของพืชที่มีเพลี้ยแป้งอยู่ไปเผาทำลายทิ้ง และ/หรือใช้สารฆ่าแมลงในกลุ่ม neonicotinoid ฉีดพ่น
การแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกันโรคและแมลง
ท่อนพันธุ์ปลูกควรสะอาดปราศจากโรคและแมลงเข้าทำลาย หากท่อนพันธุ์ที่ใช้มาจากแหล่งที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้งไม่แน่ใจว่าท่อนพันธุ์ปลอดจากเพลี้ยแป้งหรือไม่ หรือในพื้นที่ปลูกโดยรอบมีการระบาดของเพลี้ยแป้งอยู่ ควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีที่แนะนำนาน 5-10 นาที ก่อนปลูกเสมอ โดยไม่ควรแช่นานเกิน 10 นาที เนื่องจากอาจทำให้มันสำปะหลังแสดงอาการเป็นพิษจากฤทธิ์ของสารเคมี และทำให้สิ้นเปลืองเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่
ตารางสารเคมีสำหรับแช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูก
สารเคมี | อัตรา (กรัม/น้ำ 20 ลิตร) | แช่นาน (นาที) |
ไทอะมีโทแซม 25% WG | 4 | 5-10 |
อิมิดาคลอพริด 70% WG | 4 | 5-10 |
ไดโนทีฟูแรน 10% WP | 40 | 5-10 |
วิธีการผสมสารเคมีแช่ท่อนพันธุ์ ทำได้โดยการผสมสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งข้างต้นตามอัตราที่กำหนด โดยปกติการปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้น้ำแช่ท่อนพันธุ์ประมาณ 80 ลิตร เมื่อแช่ท่อนพันธุ์ไป 3-4 ครั้ง น้ำในถังแช่จะลดลง สามารถผสมสารเคมีในอัตราเดิมหรือความเข้มข้นเท่าเดิมเทเพิ่มลงไปในถังแช่ท่อนพันธุ์ได้โดยไม่ทำให้ความเข้มข้นของสารเคมีเปลี่ยนแปลง
สำหรับการปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งมีแรงงานพร้อม สามารถใช้ภาชนะใส่น้ำขนาด 1,000-2,000 ลิตร แล้วคำนวณปริมาณสารเคมีให้ได้ความเข้มข้นตามอัตราที่แนะนำแล้วแช่ท่อนพันธุ์ตามเวลาที่กำหนด จะช่วยให้ทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
การแช่ท่อนพันธุ์นาน 5-10 นาที จะช่วยกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์และสารเคมีจะแทรกซึมเข้าไปในท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง หลังจากงอกเป็นต้นแล้วสารฆ่าแมลงจะมีฤทธิ์ป้องกันการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งได้นานประมาณ 1 เดือน
ต้นทุนการแช่สารเคมีป้องกันเพลี้ยแป้งประมาณ 20 บาท/ไร่ ใช้เวลาในการปฏิบัติงานในขั้นตอนนี้เพิ่มขึ้นจากการไม่แช่ท่อนพันธุ์ประมาณ 30- 60 นาทีต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ (ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแรงงานและอุปกรณ์แช่ท่อนพันธุ์)
การจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังโดยชีววิธี
ในสภาพนิเวศน์การเกษตรโดยทั่วไปมีศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งอยู่หลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีศักยภาพในการเป็นศัตรูธรรมชาติที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการสำรวจและประเมินประสิทธิภาพของศัตรูธรรมชาติเหล่านี้ เมื่อพบว่าชนิดใดมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมศัตรูพืช ก็จะนำมาศึกษาเพิ่มเติม เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์โดยการเลี้ยงเพิ่มปริมาณสำหรับนำไปปล่อยในพื้นที่ปลูกต่อไป ซึ่งอาจดำเนินการกับศัตรูธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น แต่ถ้าพบว่ามีศัตรูธรรมชาติจากต่างถิ่นที่มีประสิทธิภาพสูงก็สามารถนำศัตรูธรรมชาติชนิดนั้น ๆ เข้ามาโดยผ่านขั้นตอนอย่างถูกต้องและมีการศึกษาผลกระทบก่อนที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมศัตรูพืช ซึ่งจะเรียกการควบคุมวิธีนี้ว่า การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี แมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่มีศักยภาพ และสามารถนำมาเลี้ยงขยายเพิ่มปริมาณ เพื่อใช้ในการควบคุมเพลี้ยแป้งโดยชีววิธี ได้แก่
ด้วงเต่า จากการสำรวจพบด้วงเต่า ซึ่งเป็นตัวห้ำกินเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังหลายชนิด เช่น ด้วงเต่าลายหยัก (Menochilus sexmoculotus (Eobricius)) ตัวเต็มวัยเพศเมียและเพศผู้กินเพลี้ยแป้งสีชมพูได้เฉลี่ย 7.9 และ 6.7 ตัว/วัน ตามลำดับ ด้วงเต่าสีส้ม Microspis discolor (Fabricus) กินเพลี้ยแป้งสีชมพูได้เฉลี่ย 9.9 และ 8.2 ตัว/วัน ตามลำดับ ด้วงเต่าบรูมอยเดส Brumoides sp. กินเพลี้ยแป้งสีชมพู ได้เฉลี่ย 16.8 ตัว/วัน
แมลงช้างปีกใส เป็นศัตรูธรรมชาติที่สำคัญชนิดหนึ่งของเพลี้ยแป้ง ในสภาพธรรมชาติพบแมลงชนิดนี้ดำรงชีวิตโดยการเป็นตัวห้ำ โดยเฉพาะในช่วงของระยะตัวอ่อนเข้าทำลายเหยื่อโดยใช้ปากที่มีเขี้ยวยาวดูดกินน้ำเลี้ยงจากตัวเหยื่อ จนกระทั่งเหยื่อแห้งตาย นำไปใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไร ตัวอ่อนแมลงหวี่ขาว ไข่เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง แมลงช้างปีกใส ที่สำรวจพบในแปลงมันสำปะหลัง ส่วนใหญ่เป็นชนิด Plesiochrysa ramburi (Schneider) จากการศึกษาถึงประสิทธิภาพในการควบคุมเพลี้ยแป้งของแมลงช้างปีกใส พบว่าตลอดช่วงเวลาของตัวอ่อนในระยะ 11 – 13 วัน สามารถทำลายเพลี้ยแป้งได้ เฉลี่ย 420 ตัว
การใช้แมลงช้างปีกใสในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง การใช้แมลงช้างปีกใสควบคุมเพลี้ยแป้งสามารถทำได้ 2 วิธีคือ ให้แขวนซองหรือถุงพลาสติกบรรจุไข่แมลงช้างปีกใสบนต้นมันสำปะหลังและแย้มปากถุงไว้ เพื่อให้ตัวอ่อนของแมลงที่ฟักออกจากไข่สามารถออกมากินเพลี้ยแป้งได้ โดยใช้อัตราปล่อย 10 จุดต่อไร่ จุดละ 1 ซองหรือถุง
การปล่อยตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส ให้นำตัวอ่อนของแมลงช้างปีกใสที่เกาะอยู่บนกระดาษในกล่องเลี้ยงวางบริเวณต้นหรือยอดมันสำปะหลังที่พบการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง โดยปล่อยในช่วงเวลาตอนเย็น อัตรา 200-500 ตัวต่อไร่ (ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของจำนวนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง) และควรปล่อยแมลงช้างปีกใสในระยะเริ่มพบกลุ่มไข่เพลี้ยแป้ง 2-3 กลุ่มไข่ต่อต้น งดการใช้สารกำจัดแมลง ซึ่งควรปล่อยแมลงช้างปีกใสอย่างต่อเนื่องจนไม่พบกลุ่มไข่เพลี้ยแป้ง
แตนเบียนแตนเบียนอะนาไกรัส โลเปไซ (Anagyrus lopezi) เป็นแตนเบียนที่มีประโยชน์ช่วยควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู พฤติกรรมการเข้าทำลายของแตนเบียน มี 2 วิธี ได้แก่ 1) การห้ำ แตนเบียนเพศเมียใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปในลำตัวเพลี้ยแป้งเพื่อสร้างบาดแผลจากนั้นใช้ปากเลียกินของเหลวจากรอยแผลเพื่อนำโปรตีนจากของเหลวในลำตัวเพลี้ยแป้งไปใช้สร้างไข่ วิธีนี้จะทำให้เพลี้ยแป้งตายทันที 2) การเบียน แตนเบียนเพศเมียใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปในลำตัวเพลี้ยแป้งและวางไข่ภายใน หนอนแตนเบียนดูดกินของเหลวในลำตัวเพลี้ยแป้งเจริญเติบโตเข้าดักแด้อยู่ภายใน แตนเบียน 1 ตัว ฆ่าและทำลายเพลี้ยแป้งวันละ 20 - 30 ตัว และลงเบียนเพลี้ยแป้งได้วันละ 15 - 20 ตัว ลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกเพศของแตนเบียนชนิดนี้ คือส่วนหนวดแตนเบียนเพศผู้มีลักษณะยาวเรียวสีดำและมีขนเล็กที่ส่วนของปล้องหนวด เพศเมียมีหนวดปล้องแรกของเพศเมียมีลักษณะแบนและใหญ่กว่าหนวดปล้องอื่นและปล้องหนวดมีสีขาวสลับดำ (สุภราดา และคณะ, 2563)
การใช้แตนเบียนในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง เมื่อเริ่มพบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง หรือการเข้าทำลายยังไม่มากให้ปล่อยแตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง อัตรา 50 คู่ต่อไร่ แต่หากพบการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุนแรง ให้เพิ่มอัตราการปล่อยแตนเบียนเป็น 200 คู่ต่อไร่ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[2]
ไรแดง
ไรแดง (Mites) เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของมันสำปะหลัง โดยไรจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบทำให้สูญเสียคลอโรฟิลล์ ไรชนิดที่พบมากในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง คือ ไรแดงหม่อน บางคนเรียกว่า ไรแดงมันสำปะหลัง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tetranychus truncates Ehara ไรชนิดนี้ดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้ใบ ทำลายใบแก่และใบเพสลาด หากระบาดรุนแรงจะเคลื่อนย้ายไปดูดกินน้ำเลี้ยงบนยอดอ่อน สร้างเส้นใยปกคุมใบและลำต้น เมื่อไรเริ่มเข้าทำลายจะเห็นเป็นจุดประด่างเหลืองบนผิวด้านบนของใบ ถ้าเข้าทำลายอย่างรุนแรงจะทำให้ใบไหม้และขาดพรุนตรงกลางใบ ใบลู่ลงและเหี่ยวแห้ง ถ้าไรเข้าทำลายในมันสำปะหลังอายุ 1-3 เดือน อาจทำให้ใบร่วง ยอดแห้ง และตายได้ นอกจากนั้นยังพบไรอีก 2 ชนิดที่เป็นศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ ไรแมงมุมคันซาบา (T. kanzawai Kishida) และ ไรแมงมุม (Oligonychus biharensis Hirst) พบระบาดรุนแรงในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ในอดีตพบว่า ไรแดงระบาดเป็นครั้งคราวและไม่รุนแรงมาก หากเกษตรกรพ่นสารป้องกันกำจัดไรได้ทันในขณะที่ต้นมันสำปะหลังมีขนาดเล็กก็จะยับยั้งการระบาดของไรได้
ลักษณะอาการ
ไรทำความเสียหายแก่มันสำปะหลังโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบ จากใบบริเวณส่วนล่างสู่ส่วนยอด ทำให้ใบเหลืองซีด ม้วนงอ และร่วง มักพบเป็นปัญหามากในช่วงแล้ง
การป้องกันกำจัด
หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่จะทำให้มันสำปะหลังกระทบแล้งตั้งแต่ช่วงต้นเล็กหรืออายุน้อยอยู่ เก็บส่วนของพืชที่มีไรอยู่ไปเผาทำลายทิ้ง ถ้าพบการระบาดของไรรุนแรง ให้ใช้สารฆ่าแมลง ได้แก่ อีโทเฟนพรอกซ์ (etofenprox) และไดโคฟอล ฉีดพ่นตามคำแนะนำในฉลาก (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[3]
แมลงหวี่ขาว
ในมันสำปะหลังพบแมลงหวี่ขาว 2 ชนิด คือ แมลงหวี่ขาวยาสูบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Bemisia tabaci (Gennadius) และแมลงหวี่ขาวใยเกลียว ชื่อวิทยาศาสตร์ Aleurodicus disperses Russell โดยแมลงหวี่ขาวใยเกลียว ตัวเต็มวัยมีขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร ลำตัวสีเหลืองอ่อน ปีกคลุมด้วยผงสีขาวคล้ายผงแป้ง วางไข่เป็นรูปวงกลมด้านหลังใบมันสำปะหลัง ลักษณะเป็นวงเกลียวมีเส้นใยสีขาวปกคลุม แต่ละวงจะมีไข่ประมาณ 14-26 ฟอง ระยะไข่ใช้เวลา 7 วัน ตัวอ่อนมีเส้นใยสีขาวปกคลุมทั่วลำตัว มี 4 ระยะใช้เวลา 30 วัน โดยตัวอ่อนระยะ 1 จะแขวนอยู่บนใบพืช ส่วนตัวอ่อนระยะอื่นจะไม่เคลื่อนไหว ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 3-7 วัน ส่วนแมลงหวี่ขาวยาสูบ ตัวเต็มวัยมีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ลำตัวสีเหลืองอ่อน ปีกสีขาว ตาสีดำ ไข่มีขนาด 0.1-0.3 มิลลิเมตร ตัวอ่อนสีเหลืองใส ลักษณะแบนราบติดไปกับผิวใบมันสำปะหลังลอกคราบ 3 ครั้ง ระยะตัวอ่อน 11-18 วัน ดักแด้ตัวจะนูนสีเหลืองเข้มขึ้นตาสีแดง มีขนาดประมาณ 0.6-0.8 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยจะออกจากดักแด้ตรงรอยแตกที่ส่วนอก เพศเมียสามารถวางไข่ได้สูงสุดมากกว่าร้อยฟอง ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 2-11 วัน มีการสืบพันธุ์แบบ parthenogenesis (การออกลูกเป็นตัวโดยไม่มีการสืบพันธุ์) (สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, 2559)[4]
ลักษณะอาการ
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนใต้ใบของพืช และถ่ายมูลทำให้เกิดราดำส่งผลให้พืชสังเคราะห์แสงได้น้อยลง นอกจากนี้ในแมลงหวีขาวยาสูบสามารถเป็นแมลงพาหะถ่ายทอดโรคใบด่าง (Cassava mosaic disease) ได้ด้วย (อุดมศักดิ์, 2555)[2]
การป้องกันกำจัด
หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่สภาพอากาศแห้แล้งในช่วงที่มันสำปะหลังยังเล็ก เก็บส่วนของพืชที่พบแมลงหวี่ขาวอยู่ไปเผาทำลายทิ้ง หรือทำการควบคุมด้วยชีววิธีด้วยแมลงศัตรูธรรมชาติ คือแมลงช้าง ปล่อยลงในแปลง หากมีการระบาดรุนแรงให้ทำการฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เช่น อีโทเฟนพรอกซ์ (Etofenprox) อิมิดาคลอพริด (Imidacloprid) ไธอะมีโทแซม (Thiamethoxam) ฉีดพ่นอัตราตามฉลากแนะนำ (อุดมศักดิ์, 2555)[2]
เพลี้ยหอย
พบมีการแพร่ระบาดในแหลงปลูกมันสำปะหลังรุนแรงทางภาคตะวันออก เช่น ระยอง ปราจีนบุรี สระแก้ว ในช่วงฤดูปลูกปี 2557-2558 โดยมีการแพร่กระจายไปกับท่อนพันธุ์
เพลี้ยหอยเกล็ด
มีชื่อวิทยาศาสตร์ Parasaissetia nigra (Nietner) ลักษณะเด่นตัวเต็มวัยเพศเมีย มีลำตัวรูปวงรี ยาว 5.0-5.5 มิลลิเมตร กว้าง 3.8-4.0 มิลลิเมตร ระยะตัวอ่อน ผนังลำตัวมีสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน ผนังลำตัวมีสีดำถึงน้ำตาลเข้ม และในช่วงวางไข่ลำตัวมีลักษณะนูนขึ้นสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ทำความเสียหายกับมันสำปะหลังด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณลำต้น หรือใบของมันสำปะหลัง มีพืชอาหารหลากหลายกว่า 400 ชนิดวงจรชีวิตเวลาประมาณ 45-60 วัน (อุดมศักดิ์, 2555)[2]
เพลี้ยหอยขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aonidomytilus albus (Cockerell) ตัวเต็มวัยเพศเมียมีแผ่นคล้ายเปลือกหอยแมลงภู่สีขาวคลุมลำตัว แผ่นลำตัวยาวประมาณ 1.7-2.5 มิลลิเมตร กว่างประมาณ 0.9-1.2 มิลลิเมตร เมื่อเปิดแผ่นปกคลุมลำตัวขึ้นจะพบตัวเพลี้ยหอยเกล็ดซึ่งมีขนาดเล็ก ลำตัวมีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองเข้ม ดูดกินน้ำเลี้ยงที่ลำต้น ก้านใบ และหลังใบมันสำปะหลัง มีพืชอาหารกว่า 21 ชนิด วงจรชีวิตเวลาประมาณ 24-29 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ (อุดมศักดิ์, 2555)[2]
การป้องกันกำจัด
ทำการแช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสาร เช่น ไทอะมีโธแซม 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาคลอพริด 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งเป็นสารที่แนะนำมาใช้ในการกำจัดเพลี้ยแป้งได้ เมื่อพบการแพร่ระบาดในแปลงควรใช้สารเคมีที่ได้มีการแนะนำข้างต้นผสมกับ ไวท์ออย (white oil) อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยผสมในน้ำปริมาณน้อย คนให้สารละลายเข้ากันได้ดีก่อนเติมน้ำจนได้ปริมาตรตามต้องการ (อุดมศักดิ์, 2555)[2]
ปลวก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Odontotermes takensis (Ahmad) มีลักษณะคล้ายมดแต่มีลำตัวสีขาว มีการสร้างทางเดินที่มีดินหุ้มเพื่อรักษาความชื้น ซึ่งจะเห็นดินเป็นทางยาวตามลำต้นหรือเป็นแผ่นหุ้มทั้งลำต้น ปลวกอยู่รวมกันเป็นสังคม รังของปลวกอาจเป็นจอมปลวกเหนือดินหรือ อยู่ใต้ดิน ในฤดูแล้งมักพบปัญหาปลวกกัดกินต้นและหัวมันสำปะหลัง การทำลายของปลวกสังเกตได้จากดินที่พอกอยู่บริเวณโคนต้นมันสำปะหลัง (อุดมศักดิ์, 2555)[2]
[2]การป้องกันกำจัด
ทำการป้องกันก่อนการปลูกด้วยสารเคมี อิมิดาคลอพริด อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ท่อนพันธุ์ หากมีการระบาดในช่วงหลังปลูก ให้พ้นที่โคนต้นด้วยสาร ฟีโพรนิล อัตราส่วน 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (อุดมศักดิ์, 2555)[2]
อ้างอิง
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2556) เทคโนโลยี 52 สัปดาห์ มันสำปะหลัง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2556) เทคโนโลยี 52 สัปดาห์ มันสำปะหลัง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ ":0" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ<ref>
ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ ":0" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ<ref>
ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ ":0" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน - ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2556) เทคโนโลยี 52 สัปดาห์ มันสำปะหลัง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ.
- ↑ สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช. 2559. คู่มือการจัดการ ปัญหาศัตรูมันสำปะหลังแบบผสมผสาน. การันตี, กรุงเทพฯ.