มันสำปะหลัง
มันสำปะหลัง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Manihot esculenta (L.) Crantz) เป็นพืชหัวชนิดหนึ่ง เป็นพืชอาหารที่สำคัญอันดับ 5 รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่ง ชื่อสามัญเรียกหลายชื่อเช่น Cassava, Yuca, Mandioa, Manioc, Tapioca ชาวไทยเดิมเรียกกันว่า มันสำโรง มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ภาคใต้เรียกมันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่า "มันหลา") คำว่า "สำปะหลัง" ที่นิยมเรียกอาจมาจากคำว่า "ซำเปอ (Sampou)" ของชวาตะวันตก
มันสำปะหลังมีแหล่งกำเนิดแถบที่ลุ่มเขตร้อน (lowland tropics) มีหลักฐานแสดงว่าปลูกกันในโคลัมเบีย และเวเนซูเอลา มานานกว่า 3,000–7,000 ปีมาแล้ว นิยมใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ สามารถปลูกได้ง่ายในพื้นที่ร้อน และร้อนชื้น จึงได้มีการสนับสนุนแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีสภาพภูมิอากาศดังกล่าวปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ
ชนิดและสายพันธุ์
มันสำปะหลังที่ปลูกเชิงเกษตรกรรม มีสองชนิด คือ
- ชนิดหวาน มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิกต่ำ ไม่มีรสขมและสามารถใช้ทำอาหารได้โดยตรง เช่น พันธุ์ห้านาที, พันธุ์ระยอง 2
- ชนิดขม มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิกสูง ต้องนำไปแปรรูปก่อน เช่น พันธุ์ระยอง 1, 3, 5, 60, 90 พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และ พันธุ์ห้วยบง 60