หลักการพิจารณาการใส่ปุ๋ยมันสำปะหลัง
1 ชนิดปุ๋ยแก้ไข
โดยทั่วไปมันสำปะหลังต้องการธาตุปุ๋ยทั้ง 3 ชนิด ซึ่งได้แก่
ไนโตรเจน (N) ผลการทดลองขององค์การอาหารและเกษตรแห่งประชาชาติ พบว่า มันสำปะหลังมีการตอบสนองกับปุ๋ยไนโตรเจน ที่ระดับ 8 – 16 กก./ไร่ เมื่อใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณที่สูงจะส่งผลให้ส่วนยอดของมันสำปะหลังเติบโตมากจนเกินไป อีกทั้งยังไปกระตุ้นการสร้างสารพิษไฮโดรยาไนด์ ซึ่งจะไปลดปริมาณการสะสมของแป้ง อีกทั้งยังทำให้มันสำปะหลังไม่ต้านทานโรคบางโรค เช่น โรคใบไหม้ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนจำเป็นต้องปรับปริมาณให้เหมาะสมกับสภาพดิน และปริมาณความต้องการปุ๋ยของมันสำปะหลังแต่ละพันธุ์ ลักษณะการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนจะต้องใส่เป็นจุด หรือใส่เป็นแถบใกล้ๆต้นพืช เพื่อให้มันสำปะหลังได้รับปุ๋ยอย่างเต็มที่ และป้องกันไม่ให้วัชพืชได้รับผลประโยชน์จากปุ๋ย
การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน (N)
· ในสภาพดินเกือบทุกชนิด การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณ 12.8 – 19.2 กก./ไร่ ช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่มันสำปะหลังได้ สามารถใส่ปุ๋ยครั้งเดียวตอนปลูก หรือ 30 วันหลังจากการปลูก
· ในสภาพดินที่เป็นดินทราย ระบายน้ำได้ดี ควรมีการแบ่งการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเป็น 2 ครั้ง คือ ใส่ครั้งแรกครึ่งหนึ่งพร้อมการปลูก ครั้งที่ 2 เมื่อมันสำปะหลังมีอายุครบ 1 – 2 เดือน หรือ แบ่งใส่ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกใช้ 1/3 ของจำนวนปุ๋ยไนโตรเจนทั้งหมดที่ใช้สำหรับการปลูก ครั้งที่ 2 ใช้ 1/3 เมื่อมันสำปะหลังอายุครบ 30 วัน และครั้งที่ 3 ใช้อีก 1/3 เมื่ออายุครบ 60 วัน
ข้อควรระวัง
· ปุ๋ยไนโตรเจนละลายได้ดีในสารละลายในดิน ควรใช้จอบขุดร่องข้างๆ สำหรับใส่ปุ๋ยจากนั้นใช้ดินกลบ ไม่ควรปล่อยให้ปุ๋ยไนโตรเจนทิ้งค้างอยู่บนผิวดิน เนื่องจากปุ๋ยส่วนหนึ่งจะระเหย หรือถูกน้ำชะล้างไป
ฟอสฟอรัส (P) มันสำปะหลังสามารถเติบโตได้ดีในสภาพดินที่มีปริมาณฟอสฟอรัสต่ำ ซึ่งการขาดฟอสฟอรัสไม่ใช่ปัญหาหลักของการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง ซึ่งการตอบสนองต่อปุ๋ยฟอสฟอรัสไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดิน ยังขึ้นอยู่กับปริมาณไมโคไรซาในดิน และพันธุ์มันสำปะหลังด้วย
การใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัส (P)
· มันสำปะหลังสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีฟอสฟอรัสต่ำ
· ในดินที่ขาดปริมาณฟอสฟอรัสอย่างรุนแรง มีปริมาณฟอสฟอรัสที่พืชสามารถนำไปใช้ได้น้อยกว่า 4 พีพีเอ็ม (ppm) ซึ่งมันสำปะหลังจะตอบสนองต่อปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ใส่ประมาณ 16-32 กก. P2O2/ไร่ ในช่วงแรก แต่หลังจาก 1 – 2 ปีแรกควรลดอัตราลงเป็น 6.4 – 8 กก. P2O2/ไร่ เนื่องจากจะมีปริมาณฟอสฟอรัสค้างอยู่ในดิน
· ปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ดีจะละลายน้ำได้ดี เช่น ซิงเกิ้ล - หรือ ทริปเปิ้ล – ซุปเปอร์ฟอสเฟต และโมโน – หรือ ได – แอมโมเนียมฟอสเฟต (ซึ่งมี N ประกอบด้วย) ควรใส่โรยเป็นแถบใกล้ๆ ท่อนพันธุ์ หรือต้นมันสำปะหลัง จากนั้นพรวนดินกลบ
· ปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ละลายได้น้อยเรียกว่า เบสิคสะแลค วิธีใช้จะต้องหว่านบนแปลงให้ถั่ว จากนั้นไถคลุกเคล้าลงไปในดินก่อนปลูกมันสำปะหลัง แหล่งปุ๋ยชนิดนี้จะมีแคลเซียม (Ca) ปริมาณมาก จะช่วยลดความเป็นกรดของดินลง (เพิ่มค่า pH)
· ควรใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสทั้งหมดครั้งเดียวในขณะที่ปลูก หรือหลังจากปลูกมันสำปะหลังแล้ว 30 วัน เนื่องจากการแบ่งใส่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
โพแทสเซียม (K) การใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิต และปริมาณการสะสมของแป้งในหัวมันสำปะหลัง โดยทั่วไปปริมาณแป้งจะสะสมเพิ่มขึ้นเมื่อใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมจนถึงระดับ 12.8 กก. K2O/ไร่ จากนั้นปริมาณแป้งจะลดลงเมื่อใช้อัตราสูงขึ้นไปกว่านี้
การใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมจะลดปริมาณไซยาไนด์หัวมันสำปะหลัง อีกทั้งช่วยเพิ่มต้านทานโรค และแมลง ปริมาณโพแทสเซียมที่เพียงพอ ยังช่วยในการเจริญเติบโตของลำต้น และคุณภาพของท่อนพันธุ์ด้วย อาการขาดแคลนปุ๋ยโพแทสเซียมมักจะเกิดในดินที่มีเนื้อโปร่งบาง เช่นดินร่วนทราย ดินทราย
การใช้ปุ๋ยโพแทสเซียม (K)
· ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใส่โพแทสเซียมที่เหมาะสมที่สุดคือใส่ในขั้นตอนการปลูก หรือหลังจากนั้น 30 วัน โดยโรยเป็นแถบข้างท่อนพันธุ์ หรือต้นมันสำปะหลัง จากนั้นพรวนดินกลบ
· การป้องกันไม่ให้ปุ๋ยโพแทสเซียมหมดไป แนะนำให้ใส่ในปริมาณ 12.8 – 19.2 กก. K2O/ไร่ เพื่อชดเชยปุ๋ยโพแทสเซียมที่มันสำปะหลังนำไปผลิตเป็นหัว
ธาตุอาหารที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นธาตุอาหารหลักที่สำคัญของมันสำปะหลัง สัดส่วนของธาตุปุ๋ยหลักจะขึ้นอยู่กับสมบัติดินและผลวิเคราะห์ดิน ชนิดปุ๋ยที่แนะนำประกอบด้วย
· ปุ๋ยสูตร 15-7-18 หรือ 16-8-16 (เรโช 2:1:2 หรือ 2:1:3 หรือ 3:1:2) ขึ้นอยู่กับราคาต่อหน่วยของเนื้อปุ๋ย ใช้กับดินทั่วไปที่มีปริมาณธาตุปุ๋ยต่ำ หรือดินที่มีการปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน เหมาะสำหรับดินทราย ดินร่วนทราย ดินร่วนเหนียว ฯลฯ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 แนะนำให้ใช้ในดินเหนียวปนกรวด เพราะมีสมบัติตรึงธาตุฟอสฟอรัส (P-fixation) สูง ทำให้ดึงธาตุฟอสฟอรัสไว้กับดิน พืชดึงไปใช้ได้ยาก จึงต้องใส่ธาตุฟอสฟอรัสมาก
2 อัตราปุ๋ยแก้ไข
อัตราปุ๋ยที่แนะนำโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับสมบัติดิน และพันธุ์มันสำปะหลัง พันธุ์ที่ตอบสนองต่อปุ๋ยในอัตราสูงได้ดี ได้แก่ พันธุ์ห้วยบง 80 ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 9 และระยอง 11 อัตราที่แนะนำส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 30-100 กิโลกรัมต่อไร่ หากเป็นการใส่ในอัตราสูงเช่น 100 กิโลกรัมต่อไร่ ควรมีการแบ่งใส่เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียปุ๋ยโดยการชะละลายออกจากเขตรากมันสำปะหลังเมื่อมีฝนตกหนัก โดยปกติหากมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วย ในอัตรา 1-2 ตันต่อไร่ ควรลดปริมาณปุ๋ยเคมีลงมาครึ่งหนึ่งของอัตราที่ใส่ปุ๋ยเคมีชนิดเดียว รายละเอียดอัตราปุ๋ยตามลักษณะดิน มีดังนี้
· ดินเหนียว ใส่ในอัตรา 30-40 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ครั้งเดียว
· ดินร่วนเหนียว ใส่ในอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ครั้งเดียว
· ดินทราย ดินร่วน ดินร่วนปนทราย และดินทรายปนดินร่วน ใส่ในอัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง
3 ระยะเวลาใส่ปุ๋ยแก้ไข
การใส่ปุ๋ยมันสำปะหลังมีระยะเวลาการใส่ดังนี้
· กลุ่มดินเนื้อปานกลางและเนื้อละเอียด ควรใส่ครั้งเดียว เมื่อมันสำปะหลังอายุประมาณ 1-2 เดือนหลังปลูก ให้พิจารณาจากขนาดของทรงพุ่ม โดยควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของทรงพุ่มประมาณ 25-30 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชื้น และการเตรียมดินว่ามีผลทำให้การเจริญเติบโตรวดเร็วเพียงใด
· กลุ่มดินเนื้อหยาบ ควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อมันสำปะหลังอายุได้ 1-2 เดือน และครั้งที่สองควรทิ้งระยะห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 2 เดือน แต่ไม่ควรใส่ปุ๋ยหลังจากมันสำปะหลังอายุเกิน 4 เดือน เนื่องจากรากมันสำปะหลังจะเปลี่ยนจากรากหาอาหารไปเป็นรากสะสมอาหารทำให้ประสิทธิภาพการดูดใช้ปุ๋ยลดน้อยลง
ข้อควรระวังในการใส่ปุ๋ยคือ จะต้องมีการกำจัดวัชพืชก่อนการใส่ปุ๋ยเสมอเพื่อไม่ให้วัชพืชแก่งแย่งปุ๋ยที่ใส่ลงไปจากมันสำปะหลัง ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของวัชพืช
4 วิธีการใส่ปุ๋ยแก้ไข
วิธีการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม ควรใส่ปุ๋ยตรงสันร่อง 2 ข้างลำต้นบริเวณขอบทรงพุ่ม (ขึ้นอยู่กับอายุพืชและขนาดของทรงพุ่ม) โดยการใช้จอบขุดเป็นหลุมขนาดเล็กลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร แล้วใช้ดินกลบ หากไม่กลบอาจทำให้เกิดการสูญเสียปุ๋ยมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์การใส่ปุ๋ยเคมีต้องดำเนินการในขณะที่ดินมีความชื้น และต้องกลบปุ๋ยด้วย การใส่ปุ๋ยรองพื้นมันสำปะหลังไม่ควรทำเพราะรากมันสำปะหลังยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะดูดใช้ได้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีฝนตกค่อนข้างมากหลังจากการเสียบท่อนพันธุ์ ส่วนการใส่ปุ๋ยด้านข้างร่องอาจจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน โดยการโรยและไถกลบ แต่ไม่เหมาะสมกับมันสำปะหลังพันธุ์แนะนำที่มีระยะปลูกระหว่างต้นประมาณ 80-100 เซนติเมตร เพราะปลายรากพืชไม่สามารถดูดใช้ปุ๋ยได้ทั่วถึง และหากฝนตกแล้วมีการไหลของน้ำในร่องมันสำปะหลังก็จะทำให้เกิดการสูญเสีย สำหรับการหว่านปุ๋ยไม่แนะนำโดยสิ้นเชิงสำหรับการปลูกมันสำปะหลัง (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2556)[1]
5 วิธีการเลือกซื้อปุ๋ยแก้ไข
การเลือกซื้อปุ๋ยให้ได้คุณภาพมีวิธีการเลือกซื้อดังนี้
- ตามพระราชบัญญัติปุ๋ยปี พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับ 2) ปี พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการเขียนข้อความที่สำคัญต่างเป็นภาษาไทย หรือที่เรียกว่า “ฉลากปุ๋ย” ไว้ที่กระสอบปุ๋ยให้เด่นชัด คือ
- ชื่อทางการค้าและมีคำว่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน หรือปุ๋ยอินทรีย์เคมีแล้วแต่กรณี
- เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายอื่นใด แสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมี
- ปริมาณธาตุอาหารรับรอง
- น้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยเคมีตามระบบเมตริก
- ชื่อผู้ผลิต และที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า
- ชื่อทางเคมีและปริมาณของสารเป็นพิษที่อยู่ในปุ๋ยเคมี (ทัศนีย์ และ ประทีป. 2552)[2]
- ตรวจสอบเลขทะเบียนของปุ๋ยที่ขึ้นกับกรมวิชาการเกษตรด้วยแอพเคชั่นของกรมวิชาการเกษตร บนช่องทางเครื่องมือสื่อสาร
- ไม่หลงเชื้อคำโฆษณาชวนเชื่อ เกินราคา เกินความจริง เช่น ใช้ซองเดียวข้าวได้เป็นตันๆ
- เกษตรกรควรมีความรู้ เพื่อป้องกันการโดนหลอกขายปุ๋ย ขายยา โดยสามารถหาความรู้ได้ทางช่องทางอินเตอร์เน็ต หรือตามหน่วยงานด้านการเกษตร ทราบถึงธาตุอาหารที่พืชต้องการ ระยะเวลาการใส่ปุ๋ย ปริมาณที่พอเหมาะ
- ไม่หลงเชื่อคำพูดของของเกษตรกรผู้ปลูกด้วยกันง่ายๆ อาจเพราะการบอกว่าใช้ดีอาจหมายถึงเป็นตัวแทนขาย หรือได้รับผลประโยชน์
- ไม่หลงเชื่อโฆษณาตามอินเตอร์เน็ต หรือวิทยุได้ง่ายๆ (ควายดำทำเกษตร, 2563)[3]
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2556) เทคโนโลยี 52 สัปดาห์ มันสำปะหลัง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ.
- ↑ ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และ ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์. 2552. ธรรมชาติของดินและปุ๋ย. ครั้งที่ 7 หจก. กร ครีเอชั่น. กรุงเทพฯ.
- ↑ ควายดำทำเกษตร. 2563. ทำอย่างไรไม่ให้โดนหลอกซื้อ. ที่มา: https://www.facebook.com/blackbuffalofarmer/posts/1213896028960629. วันที่สืบค้น 20 มีนาคม 2564.