โรคใบจุดสีน้ำตาล (brown leaf spot disease)

โรคนี้อาจเรียกว่าโรค BLS เกิดจากเชื้อรา Cercosporidium henningsii หรือ Cercospora henningsii เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราที่ทำความเสียหายให้แก่มันสำปะหลังที่สำคัญโรคหนึ่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้มันสำปะหลังที่เป็นโรคมีจุดสีเหลืองกระจายอยู่ทั่วทั้งใบ เป็นการลดพื้นที่ใบในการสังเคราะห์แสง (เจริญศักดิ์, 2532) ส่วนทางอ้อมพบว่าโรคใบจุดสีน้ำตาลทำให้ใบมันสำปะหลังร่วงหลังจากปลูก และร่วงมากขึ้นเมื่อปลูกไปแล้ว 5 เดือน (เจริญศักดิ์, 2529) โรคนี้ทำให้ใบของมันสำปะหลังร่วงก่อนกำหนดเป็นผลให้วัชพืชขึ้นแก่งแย่งแข่งขันได้ดี ทำให้มันสำปะหลังสร้างหัวใต้ดินน้อย และผลผลิตลดลงในที่สุด โรคใบจุดสีน้ำตาลแสดงอาการผิดปกติเฉพาะส่วนใบเท่านั้น พบอาการใบจุดในตำแหน่งของใบที่อยู่ด้านล่างมากกว่าใบที่อยู่ด้านบน โดยแสดงอาการผิดปกติใน 2 ระยะ คือ ระยะแรกด้านใบมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลค่อนข้างเหลี่ยมตามเส้นใบ มีขอบชัดเจน และเมื่อสังเกตด้านหลังใบพบจุดแผลมีสีเทา เนื่องจากเส้นใยของเชื้อขึ้นปกคลุมส่วนใน ระยะที่สองปรากฏขอบแผลสีเหลืองรอบจุดสีน้ำตาลและ ถ้ารุนแรงขึ้นตรงกลางแผลมีอาการแห้งและหลุดออกเป็นรูกลวง (ศานิต, 2557)

ลักษณะอาการ

โดยทั่วไปต้นที่เป็นโรคมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ จะพบอาการของโรคบนใบล่างๆ มากกว่าใบบนซึ่งมีอายุน้อยกว่า มีรายงานว่าใบมันสำปะหลังอายุ 5 - 15 วัน จะทนทานต่อการเกิดโรค และจะอ่อนแอ พบเป็นโรคเมื่ออายุ 25 วันขึ้นไป โดยเกิดอาการใบจุดค่อนข้างเหลี่ยมตามเส้นใบมีความสม่ำเสมอ สีน้ำตาล ขนาด 3 - 15 มิลลิเมตร มีขอบชัดเจนจุดแผลด้านหลังใบมีสีเทา เนื่องจากมีเส้นใยและส่วนขยายพันธุ์ (fruiting bodies) ของเชื้อสาเหตุในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค แผลจะล้อมรอบด้วยวงสีเหลือง (yellow halo) และตรงกลางแผลอาจจะแห้งและหลุดเป็นรู (รัตติกาล และณัฐวุฒิ, 2555)

เชื้อรา C. henningsii มี perfect stage ที่ชื่อว่า Mycosphaerella henningsii ลักษณะสำคัญของเชื้อรานี้ สร้างก้านชูสปอร์ (conidiophores) เกิดเป็นกลุ่มเกาะกันอยู่ ก้านสปอร์มีลักษณะรูปร่างเรียวยาว ปลายของก้านชูสปอร์โค้งเล็กน้อย หรือบางครั้งก้านชูสปอร์สามารถแตกแขนงได้ มีสีซีดจางไปจนถึง สีน้ำตาล มีผนังกั้น (septate) ซึ่งมีรอยของ scar เห็นได้ชัด โคนิเดีย (conidia) มีสีซีดจนถึงน้ำตาลอ่อน โคนิเดียมีขนาด 3.5 - 5 x 14 - 18 ไมครอน มี 3 - 7 เซลล์ (Charles, 1953; Pattana et al., 1980; Vasudeva, 1963)

การแพร่ระบาด

เชื้อราสาเหตุของโรคสามารถอาศัยอยู่ได้บนใบมันสำปะหลังที่ร่วงอยู่ในไร่ และจะขยายพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ เมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สปอร์เหล่านี้จะแพร่กระจายโดยลม หรือน้ำฝนไปตกบนใบปกติ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ต่อไป สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการแพร่ระบาดของโรค ได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ และอายุของพืช การสร้างสปอร์หรือโคนิเดีย (spores of conidia) จะเกิดขึ้นเมื่อมีความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 50-90 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิที่ทำให้สปอร์งอกได้ดีที่สุดอยู่ระหว่าง 39-43 องศาเซลเซียส ดังนั้นเราจึงสามารถพบโรคใบจุดสีน้ำตาลในพื้นที่ที่มีสภาพความชื้นต่ำและแห้งแล้งได้ โดยปกติโรคจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตไม่มาก แต่กรณีที่เกิดโรครุนแรงอาจมีผลกระทบต่อพันธุ์อ่อนแอ การศึกษาความต้านทานของมันสำปะหลังต่อโรคใบจุดสีน้ำตาลพบว่า พันธุ์ ระยอง 90 และ ห้วยบง 60 มีความต้านทานต่อโรคใบจุดสีน้ำตาลมากกว่าพันธุ์ เกษตรศาสตร์ 50, ห้วยบง 80, MCKU 34-114-235, MCKU 34-114-245, ระยอง 1, ระยอง 5, ระยอง 60 และระยอง 72 ซึ่งมีความต้านทานโรคในระดับปานกลาง และมีรายงานว่าโรคนี้ทำให้ผลผลิตลดลง 14-20 เปอร์เซ็นต์ในพันธุ์ระยอง 1 เนื่องจากทำให้ใบมันสำปะหลังร่วงเร็วกว่าปกติ นอกเหนือจากมันสำปะหลังแล้ว เชื้อโรคนี้ยังสามารถอาศัยในพืชอื่นได้ เช่น M. glaziovii M. piauhynsis และ มันเทศ (Ipomoea batatas)

การป้องกันกำจัด

ใช้สารเคมี เช่น สารประกอบทองแดง (copper compound) หรือสารเบโนมิล (benomyl) พ่นให้ทั่วบริเวณที่เป็นโรคอย่างน้อย 1-2 ครั้ง เพื่อลดการระบาดของโรค การใช้พันธุ์ต้านทาน และควรกำจัดใบที่เป็นโรคออกจากแปลง