การทำแปลงขยายพันธุ์

รุ่นแก้ไขเมื่อ 06:10, 2 ธันวาคม 2564 โดย บงกฤช จันทรารัตนสกุล(คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ต้นพันธุ์มันสำปะหลังคิดเป็นส่วนของต้นทุนประมาณ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด การลงทุนปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ขนาดใหญ่หากต้องพึ่งพาต้นพันธุ์จากแหล่งอื่นทุกปีจัดว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากราคาต้นพันธุ์จะผันแปรตลอดเวลาในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการของเกษตรกรและสภาพอากาศในปีนั้นๆ อีกทั้งไม่สามารถควบคุมคุณภาพต้นพันธุ์ที่จัดซื้อมาได้  ส่งผลต่อผลผลิตมันสำปะหลังในที่สุด แต่เนื่องจากมันสำปะหลังสามารถขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ปลูก ดังนั้นจึงสามารถปลูกขยายต้นพันธุ์ไว้ใช้เองในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ผลผลิตแต่ละพื้นที่จึงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน และคุณลักษณะของดินที่ปลูกเป็นสำคัญ อีกทั้งการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ทำให้ต้องมีการจัดทำแปลงขยายท่อนพันธุ์สะอาด เพื่อกระจายพันธุ์ดีในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อรักษาระดับการให้ผลผลิตมันสำปะหลังให้เพียงพอต่อความต้องการ จำหน่าย หรือแจกจ่ายเกษตรกรลูกไร่ และลดการระบาดของเพลี้ยแป้ง มีหลักในการพิจารณาและปฏิบัติ ดังนี้

สภาพพื้นที่และดิน [1]แก้ไข

สภาพพื้นที่เหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลังควรเป็นพื้นที่ที่ระบายน้ำได้ดีไม่เป็นที่ลุ่ม หรือมีน้ำท่วมขัง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,000 เมตร พื้นที่ราบสม่ำเสมอ มีความลาดเอียงไม่เกิน 5 เปอร์เซนต์ ลักษณะดินเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินทราย ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง อินทรียวัตถุไม่ต่ำกว่า 1.0 มันสำปะหลังปรับตัวได้ดีในสภาพดินเลว ทนทานต่อดินที่มี pH ต่ำ ฟอสฟอรัสต่ำ อย่างไรก็ตามดินที่เหมาะสมสำหรับปลูกมันสำปะหลัง คือ ดินที่มีเนื้อค่อนข้างหยาบ ตั้งแต่ดินร่วนปนทรายถึงดินร่วนเหนียวปนทราย เพราะมีเปอร์เซ็นต์การระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศดี ระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง 5.5 – 7.5 ปริมาณน้ำฝนกระจายสม่ำเสมอ 1,000 – 1,500 มิลลิเมตรต่อปีมีแสงแดดจัด

อุณหภูมิแก้ไข

อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตคือ 25 – 37 องศาเซลเซียส ซึ่งมีผลกระทบต่อการงอกของท่อนพันธุ์ปลูก ขนาดใบ การสร้างใบ การสร้างหัวสะสมอาหาร และการเจริญเติบโตทั่วไปในสภาพที่อุณหภูมิต่ำที่ 16 องศาเซลเซียส มีผลต่อการแตกใบและการงอกรากจากท่อนปลูก อัตราการสร้างใบ การสร้างน้ำหนักแห้งทั้งต้น และการสะสมน้ำหนักแห้งของหัวลดลง การแตกใบและการงอกรากจากท่อนปลูกได้ดีเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจนถึง 30 องศาเซลเซียส และถูกยับยั้งเมื่ออุณหภูมิสูงถึง 37 องศาเซลเซียส[2]

การเตรียมดินแก้ไข

แปลงขยายพันธุ์ควรเป็นแปลงที่มีระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินปานกลางถึงสูง มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน ควรหลีกเลี่ยงปลูกในดินที่ชื้นแฉะ เพราะหัวมันสำปะหลังจะเน่าเสียได้ง่ายและมีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิคสูง การเตรียมดินควรไถ 2 ครั้ง โดยผาน 3 และผาน 7 ควรไถให้ลึกประมาณ 8 – 12 นิ้ว โดยไถกลบเศษเหลือของพืช เช่น ลําต้น เหง้า ใบ และยอดของมันสําปะหลังที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว ไม่ควรเผาหรือเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพราะการเผาทิ้งหรือขนย้ายไปทิ้งจะทําให้ธาตุอาหารสญหายไปเป็นจํานวนมาก สำหรับพื้นที่ปลูกที่ลาดเอียง เพื่อลดการสูญเสียหน้าดิน และพื้นที่ปลูกที่มีน้ำท่วมขัง ควรทำร่องระบายน้ำและยกร่องปลูก[3] การเตรียมดินสำหรับปลูกมันสำปะหลังทำได้ ดังนี้

  • การไม่ไถพรวนดิน จะมีการยกร่องหรือไม่ยกร่องก็ได้ เหมาะสำหรับการปลูกมันสำปะหลังปลายฤดูฝนในดินทราย หรือดินทรายปนร่วน เนื่องจากความชื้นในดินมีเพียงพอต่อการงอก[4]
  • การไถพรวนน้อยครั้ง ทำการไถพรวนโดยใช้ผาล 7 เพียงครั้งเดียว ตามด้วยการยกร่อง หรือไม่ยกร่อง แต่ไม่ควรใช้วิธีนี้ติดต่อกันหลายปี เพราะจะทำให้เกิดชั้นดินดานในระดับดินล่างตื้น[4]
  • การไถพรวนมากกว่า 1 ครั้ง ทำการไถพลิกฟื้นดินโดยใช้ผาล 3 และพรวนดินโดยใช้ผาล 7 เพียงครั้งเดียว หรือ 2 ครั้งขึ้นอยู่กับสภาพของดิน ตามด้วยการยกร่องหรือไม่ยกร่อง การไถพรวนบ่อยครั้งเกินไป ทำให้ดินสูญเสียธาตุอาหารได้เร็ว เนื่องจากจะไปช่วยเร่งให้ขบวนการย่อยสลายเกิดขึ้นเร็วขึ้น และทำให้เกิดการสูญเสียน้ำในดิน[4]

หากดินที่ทำการเพาะปลูกมันติดต่อกันหลายปี ควรปรับปรุงดิน เพื่อรักษาระดับผลผลิตในระยะยาว ด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเปลือกมันชนิดเก่าค้างปี (จากโรงแป้งทั่วไป) ที่หาได้ในท้องถิ่น หรือ ปลูกพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ หมุนเวียนบำรุงดิน ในกรณีที่พื้นที่ประเภทหญ้าคา ควรใช้ยาราวด์อัพหากเป็นเครือเถาต่าง ๆ ควรใช้ยาสตาร์เรน ฉีดพ่นยาจำกัดเสียก่อนการไถ จากนั้นไถครั้งแรกโดยไถกลบวัชพืชก่อนปลูกด้วยผาน 3 (ห้ามเผาทำลายวัชพืช) ให้ลึกประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร แล้วทิ้งระยะไว้ประมาณ 20 – 30 วัน เพื่อหมักวัชพืชเป็นปุ๋ยในดินต่อไป ไถพรวนด้วยผาน 7 อีก 1 - 2 ครั้ง ตามความเหมาะสม และรีบปลูกโดยเร็ว ในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่

การทำแปลงขยายพันธุ์แบบปกติ [1]แก้ไข

การปลูกด้วยท่อนพันธุ์แก้ไข

ปลูกมันสำปะหลังด้วยท่อนพันธุ์ที่มีความยาวประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร ระยะปลูก ระยะปลูกมันสำปะหลังสามารถปลูกได้ตั้งแต่ระยะ 60 X 60 เซนติเมตร จนถึง 120 X 120 เซนติเมตร โดยระยะ 100 X 100 เซนติเมตร จะมีแนวโน้มให้ผลผลิตสูงกว่าระยะอื่นๆ แต่ถ้าหากเกษตรกรมีการใช้เครื่องทุ่นแรงระยะปลูกระหว่างแถว X ต้น อาจใช้ 120 X 80 เซนติเมตร เพื่อสะดวกในการใช้เครื่องทุ่นแรง[3] วิธีการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรมี ดังนี้ คือ

  • การปลูกแบบนอน (ปัจจุบันไม่นิยมปลูกด้วยวิธีนี้) เป็นวิธีการปลูกแบบเก่า เพราะต้นมันสำปะหลังจะงอกโผล่พ้นดินช้ากว่าวัชพืช ทำให้การกำจัดวัชพืชลำบากมากขึ้น แต่มีข้อดี คือ ถ้าดินมีความชื้นน้อยการปลูกด้วยวิธีนี้จะทำให้มีจำนวนต้นอยู่รอดมาก และไม่ต้องระวังว่าจะปลูกโดยเอายอดลงดินซึ่งจะทำให้ตาไม่งอก[5]
  • การปลูกแบบปัก การปลูกแบบปักจะให้ผลดีกว่าการปลูกแนวนอน เนื่องจากมันสำปะหลังงอกได้เร็วกว่า สม่ำเสมอกว่า สะดวกต่อการปลูกซ่อม และกำจัดวัชพืช ในฤดูฝน ถ้าพื้นที่แฉะควรยกร่องและปลูกบนสันร่อง ถ้าดินระบายน้ำดีปลูกบนพื้นที่ราบก็ได้ การปักท่อนพันธุ์ตั้งตรงหรือเอียงให้ลึกประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร สำหรับการปลูกในฤดูแล้งไม่จำเป็นต้องยกร่องแต่ควรปักตั้งตรงหรือเอียง ให้ลึกกว่าการปลูกในฤดูฝน 10 – 15 เซนติเมตร[6] จะช่วยให้ท่อนพันธุ์มีความงอกและมีความอยู่รอดสูง ส่วนการปลูกในพื้นที่ที่มีความเอียง ควรปลูกโดยการยกร่องขวางแนวลาดเอียง  

การทำแปลงขยายต้นพันธุ์แบบเร่งรัด [1]แก้ไข

วิธีการขยายพันธุ์แบบเร่งรัด เป็นการตัดท่อนพันธุ์สั้นกว่าปกติหรือตัดต้นอ่อนไปปลูกโดยไม่ต้องรอให้มันสำปะหลังอายุครบ 8 – 12 เดือนตามวิธีการปกติ เพื่อให้ได้ปริมาณท่อนพันธุ์จำนวนมากภายในเวลาอันสั้น สามารถปฏิบัติได้หลายวิธี ดังนี้

การขยายพันธุ์โดยการตัดยอดอ่อนแก้ไข

มันสำปะหลังที่ปลูกโดยท่อนพันธุ์ปกติ ส่วนใหญ่จะแตกตาและเจริญเป็นลำต้นหลักที่สมบูรณ์ประมาณ 1 – 3 ลำต่อต้น ขึ้นอยู่กับพันธุ์ คุณภาพท่อนพันธุ์ และสภาพแวดล้อมขณะปลูก ซึ่งโดยเฉลี่ยจะเท่ากับ 2 ลำต่อต้น แต่หากตัดส่วนยอดทิ้งในขณะที่ต้นยังเล็กอายุประมาณ 2 เดือนหลังปลูก มันสำปะหลังจะแตกตาใหม่ขึ้นมาจากต้นเดิม ทำให้ได้ลำต่อต้นมากขึ้น 2 – 3 เท่า โดยมีวิธีการ ดังนี้

  1. ปลูกมันสำปะหลังโดยใช้ท่อนพันธุ์ขนาดและความยาวปกติ จัดการด้านเขตกรรมตามวิธีปฏิบัติทั่วไป แต่ในขั้นตอนการกำจัดวัชพืชไม่ควรใช้สารเคมีตั้งแต่ต้นยังเล็กเนื่องจากอาจทำให้ต้นอ่อนเสียหายจากการถูกสารเคมีทำลาย
  2. ตัดยอดอ่อนเมื่อมันสำปะหลังมีอายุประมาณ 2 เดือนหลังปลูก โดยใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่งตัดที่ระดับความสูงประมาณ 30 เซนติเมตรจากพื้นดิน
  3. ภายหลังตัดยอดอ่อน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยวิธีขุดหลุมใส่ข้างต้นแล้วกลบและให้น้ำตามทันที เพื่อให้มันสำปะหลังสามารถดึงปุ๋ยไปใช้และแตกยอดอ่อนสร้างลำต้นใหม่ได้เร็วและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
  4. เมื่อมันสำปะหลังแตกยอดใหม่และมีจำนวนมากเกินไป ให้เด็ดยอดทิ้งเหลือลำต้นหลักเพียง 4 ลำต่อต้น เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง มีขนาดพอเหมาะสำหรับปลูก
  5. เก็บเกี่ยวต้นพันธุ์ภายหลังการตัดยอดประมาณ 10 เดือน หรือเมื่อมันสำปะหลังมีอายุประมาณ 12 เดือนหลังปลูก
 
ภาพแสดงการตัดยอดต้นพันธุ์เมื่ออายุ 2 เดือนหลังปลูกเพื่อให้แตกลำเพิ่ม (ภาพจาก ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง)
 
ภาพแสดงต้นพันธุ์ที่มีการตัดยอดเพื่อเพิ่มจำนวนลำต่อต้น (A) เปรียบเทียบกับต้นพันธุ์ปกติที่ไม่มีการตัดยอดเมื่ออายุน้อย (B)(ภาพจาก ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง)

การขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์สั้นแก้ไข

ท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกปกติมีความยาวประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร ดังนั้นมันสำปะหลัง 1 ลำที่มีความยาวประมาณ 100 – 120 เซนติเมตร จะสามารถตัดได้เพียง 4 – 6 ท่อนเท่านั้น แต่หากตัดท่อนพันธุ์ให้สั้นลงเป็นท่อนละ 5 เซนติเมตร จะได้ปริมาณท่อนพันธุ์มากถึง 20 – 25 ท่อน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า ภายในระยะเวลาเท่ากัน แต่การปลูกท่อนพันธุ์สั้นในสภาพแปลงมีผลให้ความงอกต่ำ ดังนั้นจึงมีวิธีการปฏิบัติดังนี้

  1. ใช้เลื่อยตัดเหล็กตัดท่อนพันธุ์ให้มีความยาวท่อนละ 5 เซนติเมตร นำไปแช่ในสารเคมีป้องกันเชื้อราตามอัตราแนะนำ
  2. จัดเตรียมวัสดุเพาะได้แก่ ดินทรายหรือดินร่วนทราย ขุยมะพร้าว และแกลบเผา ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดี แล้วบรรจุดินผสมลงในถุงเพาะชำขนาด 4 x 7 เซนติเมตร จัดเรียงถุงเพาะชำไว้ในที่พรางแสงหรือมีแสงแดดรำไร
  3. ปักท่อนพันธุ์ที่ตัดไว้ในถุงเพาะชำที่เตรียมไว้ให้ลึกลงไปในดินประมาณ 4 เซนติเมตร จนได้ตามปริมาณที่ต้องการ
  4. รดน้ำให้ให้ชุ่มตลอดเวลาจนมันสำปะหลังงอกและย้ายลงแปลง
  5. หลังจากมันสำปะหลังงอกหรือมีอายุประมาณ 25 – 30 วันหลังปลูก ให้ย้ายต้นกล้าที่แข็งแรงลงแปลงที่จัดเตรียมไว้ โดยขุดหลุมเป็นแถว ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ใช้ระยะปลูก 100 x 80 เซนติเมตร โดยควรเป็นแปลงที่สามารถให้น้ำได้
  6. จัดการด้านเขตกรรมตามวิธีปกติ
  7. ตัดต้นพันธุ์เมื่อมันสำปะหลังมีอายุประมาณ 10 – 11 เดือนหลังย้ายต้นกล้าลงแปลง
 
ภาพแสดงการขยายโดยใช้ท่อนพันธุ์สั้น(ภาพจาก ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง)
 
ภาพแสดงการขยายโดยใช้ท่อนพันธุ์สั้น (ต่อ)(ภาพจาก ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง)

การขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์สั้น และตัดยอดต้นอ่อนแก้ไข

เป็นวิธีผสมผสานระหว่างการใช้ท่อนพันธุ์สั้นและการตัดยอดต้นอ่อนมาปลูก เพื่อให้ได้อัตราการขยายพันธุ์ที่สูงขึ้น สามารถลดข้อจำกัดหรืออุปสรรคในขั้นตอนการปฏิบัติงานที่มีอยู่ของ 2 วิธีการข้างต้น ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ตามขั้นตอน ดังนี้

  1. การปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์สั้น (ความยาว 10 เซนติเมตร) ตัดต้นพันธุ์ให้มีความยาวท่อนละ 10 เซนติเมตร ถือว่าเป็นขนาดสั้นปานกลาง ซึ่งสั้นกว่าท่อนพันธุ์ปลูกปกติ 0.5 เท่า ทั้งนี้เพื่อให้สามารถนำไปปลูกในแปลงได้โดยไม่ต้องเพาะชำในถุงก่อนซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนและไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ต้นพันธุ์ขนาดดังกล่าวสามารถงอกได้ในสภาพแปลงปกติ หากฝนตกหรือมีการให้น้ำหลังปลูกให้ดินมีความชื้นพอเหมาะจะช่วยเพิ่มอัตราความงอกให้สูงขึ้นได้เช่นเดียวกับท่อนพันธุ์ยาวปกติ
  2. การตัดยอดต้นอ่อน (อายุ 4 เดือนหลังปลูก) เมื่อมันสำปะหลังอายุได้ 4 เดือนหลังปลูก ซึ่งเป็นช่วงที่มันสำปะหลังเริ่มทิ้งใบล่าง มีความสูงต้นประมาณ 80 – 120 เซนติเมตร ให้ตัดต้นออกที่ระดับความสูงจากพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร และเด็ดใบที่ติดอยู่ตามลำต้นออกให้หมด จะได้ลำต้นที่ยังอ่อนและมีสีเขียวอยู่ซึ่งสามารถนำไปตัดเป็นท่อนเพื่อปลูกในสภาพแปลงได้เช่นเดียวกับท่อนพันธุ์ปกติหากดินมีความชื้นเหมาะสม ท่อนพันธุ์จะงอกได้ดีเมื่อมีการเด็ดยอดของต้นพันธุ์ 3 วันก่อนที่จะตัดต้นไปขยายพันธุ์ และเมื่อปลูกขยายพันธุ์ในแปลงแล้วต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
  3. การปลูกขยายต้นอ่อน และบำรุงต้นตอเดิม หลังจากได้ต้นพันธุ์จากขั้นตอนที่ 2 แล้วนำมาตัดเป็นท่อน ให้ได้ความยาวท่อนพันธุ์ประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร นำไปแช่ในสารเคมีป้องกันเชื้อราตามอัตราแนะนำ จากนั้นนำขึ้นมาผึ่งลมไว้ให้แห้งก่อนนำไปปลูกในแปลงปกติซึ่งควรเป็นแปลงที่มีการเตรียมดินที่ดี และสามารถให้น้ำได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1 – 2 เดือนหลังปลูก ส่วนแปลงต้นพันธุ์เดิมที่ตัดไว้ตอต้องให้น้ำเพื่อให้แตกลำต้นขึ้นมาใหม่ และตัดแต่งให้มีจำนวนลำไม่เกิน 4 ลำต่อต้น จะทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ขึ้น การจัดการด้านเขตกรรมอื่น ๆ ทำเช่นเดียวกับการปลูกทั่วไป
  4. การเก็บเกี่ยวต้นพันธุ์ ต้นพันธุ์ที่ได้จากการปลูกทั้งสองวิธีการสามารถเก็บเกี่ยวต้นพันธุ์พร้อมกันได้ คือ แปลงที่ปลูกโดยใช้ต้นพันธุ์อ่อนเก็บเกี่ยวต้นพันธุ์ที่อายุ 10 เดือนหลังปลูก และแปลงที่ไว้ตอสามารถเก็บเกี่ยวต้นพันธุ์ที่อายุ 10 เดือนหลังการตัดต้นไว้ตอ ซึ่งต้นพันธุ์ที่ได้จากทั้งสองแปลงจะมีคุณภาพต้นพันธุ์ใกล้เคียงกัน

เทคนิคการตัดต้นไว้ตอมันสำปะหลัง [1]แก้ไข

การไว้ตอมันสำปะหลังเป็นวิธีการตัดต้นพันธุ์ออกไปปลูกก่อน โดยยังไม่ขุดเก็บเกี่ยวผลผลิตหัวสดออกจากแปลง หลังตัดต้นพันธุ์ออกไปแล้วมันสำปะหลังจะแตกตาใหม่ขึ้นมาและสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นปกติ ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างอาหารและนำไปสะสมที่รากทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้อีกในภายหลัง การไว้ตอมันสำปะหลังมีข้อควรพิจารณาดังต่อไปนี้

  1. การตัดต้นไว้ตอแนะนำให้ทำในฤดูปลูกต้นฝน เนื่องจากดินมีความชื้นเพียงพอสำหรับแตกตาใหม่ขึ้นมาภายหลังการตัดต้น ไม่แนะนำให้ทำในช่วงฤดูปลายฝน เนื่องจากหลังการตัดต้นจะกระทบแล้งยาวนาน ความชื้นในดินต่ำทำให้การแตกตาใหม่และการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ส่งผลให้ได้ต้นพันธุ์สั้น และไม่สมบูรณ์ ยกเว้นแปลงที่สามารถให้น้ำชลประทานในช่วงฤดูแล้งได้
  2. การตัดต้นพันธุ์ครั้งแรกควรทำที่อายุ 8 – 10 เดือน และขุดเก็บเกี่ยวหลังการตัดต้นครั้งแรกไปแล้ว 6 เดือนขึ้นไป หรือเมื่อมันสำปะหลังมีอายุประมาณ 16 – 18 เดือนหลังปลูก
  3. หลังการตัดต้นพันธุ์ครั้งแรกจะมีการสร้างลำต้นและใบขึ้นมาใหม่จำนวนมาก ควรตัดแต่งให้แต่ละต้นเหลือลำต้นหลักเพียง 2 – 3 ลำต่อต้น เพื่อให้ลำต้นมีความสมบูรณ์และมีจำนวนใบพอเหมาะสำหรับการเจริญเติบโต สร้างผลผลิต และปริมาณแป้งในหัว
  4. หลังการตัดต้นพันธุ์จะมีการแตกตาใหม่ขึ้นมาทำให้ต้องดึงอาหารที่สะสมไว้ในหัวมาใช้สร้างลำต้นและใบ ส่งผลให้ปริมาณแป้งในหัวต่ำลงในช่วง 1 – 3 เดือนแรก หลังจากนั้นผลผลิตหัวสดและปริมาณแป้งจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มอย่างเด่นชัดเมื่ออายุ 6 เดือนหลังการตัดต้น ดังนั้นจึงควรเก็บเกี่ยวที่อายุ 6 เดือนขึ้นไปหลังการตัดต้นครั้งแรก

อ้างอิงแก้ไข

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2556) เทคโนโลยี 52 สัปดาห์ มันสำปะหลัง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ.
  2. ชินพัฒน์ธนา สุขวิบูลย์. 2558. การบริหารและจัดการระบบพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศไทย. วารสารอนุรักษ์ดินและน้ำ. 31, 2 (เม.ย. 2559) :36-47
  3. 3.0 3.1 ไกวัล กล้าแข็ง และวิลาวัลย์ วงษ์เกษม. 2548. การปลูกมันสำปะหลัง. กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี.
  4. 4.0 4.1 4.2 สมลักษณ์ จูฑังคะ. 2551. เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง. วารสารวิชาการ. ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง กรมวิชาการเกษตร.
  5. กลุ่มสาระสนเทศการเกษตร. 2563. เอกสารเรื่องมันสำปะหลังจังหวัดพะเยา ปี 2563. สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพะเยา
  6. ไกวัล กล้าแข็ง. 2551. คู่มือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรมันสำปะหลัง. สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร