การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง

มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก ในปี 2556 มีการส่งออกในรูปมันเส้นและมันอัดเม็ดประมาณ 3 ล้านตัน และส่งออกในรูปแป้งมันสำปะหลังประมาณ 1.32 ล้านตัน โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมมากกว่า 50,000 ล้านบาท พื้นที่ผลิตมันสำปะหลังของประเทศไทยประมาณ 6.52 ล้านไร่ กระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ คิดเป็น 54.74 31.74 และ 13.52 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดตามลำดับ ได้ผลผลิตรวมประมาณ 30 ล้านตันหัวมันสด[1]

ระบบการผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรโดยทั่วไป ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ๆ หลายขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการเตรียมดิน การปลูก การบำรุงรักษา การจัดการวัชพืช การจัดการด้านโรค-แมลง การเก็บเกี่ยว และรวบรวมหัวมันขึ้นรถบรรทุก ซึ่งเกษตรกรจะนำเครื่องมือจักรกลเกษตรเข้ามาช่วยดำเนินการในบางขั้นตอน แต่โดยทั่วไปยังคงใช้แรงงานคนทำงานเป็นหลัก ขั้นตอนเก็บเกี่ยวและรวบรวมหัวมันขึ้นรถบรรทุกเป็นขั้นตอนที่ใช้แรงงานมากที่สุด โดยมีค่าเท่ากับ 54.5 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด และยังพบว่าค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานมีมูลค่าถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด[2]

เนื่องจากภายหลังการเก็บเกี่ยว จำเป็นต้องลำเลียงหัวมันสดออกจากแปลงเพื่อนำไปส่งยังโรงงานแปรรูปภายในวันเดียวกันให้หมด มิฉะนั้นหัวมันสดที่มีความชื้นสูงจะเกิดการเสื่อมสภาพและทำให้ปริมาณแป้งลดลงซึ่งมีผลต่อราคารับซื้อหัวมันสด ดังนั้นเพื่อประหยัดค่าขนส่ง เกษตรกรจึงพยายามเก็บเกี่ยวในแต่ละวันให้ได้ปริมาณหัวมันเต็มรถบรรทุก ซึ่งรถบรรทุกที่เกษตรกรจัดหาได้มักมีขนาด 6-9 ตัน ทำให้เกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวประมาณ 2-4 ไร่ต่อวัน ซึ่งหมายถึงเกษตรต้องจัดการให้มีการขุด 2-4 ไร่ต่อวัน จากนั้นจึงรวมกอง ตัดเหง้า และขนขึ้นรถบรรทุก ให้เสร็จสิ้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

ดังนั้น การนำกำลังงานจากเครื่องจักรกลเกษตรเข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคนในการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง จึงเป็นทางเลือกสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวได้ ปัจจุบันพบว่ามีการนำเครื่องมือจักรกลเกษตรเข้ามาใช้ในกระบวนการปลูกและการเก็บเกี่ยว เนื่องจากปัญหาเรื่องต้นทุนในการจ้างแรงงานในภาคการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้น[3]

จากผลการศึกษารูปแบบการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในปัจจุบัน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยเก็บข้อมูล อัตราการทำงานและความต้องการแรงงานของกระบวนการ ดังแสดงไว้ในตาราง 1 โดยจากตารางพบว่าอัตราการทำงานของกระบวนการเก็บเกี่ยวรวมทั้งกระบวนการ คือ 2.61 ไร่/คน-ชั่วโมง และมีความต้องการแรงงาน คือ 11.3 คน-ชั่วโมง/ไร่ โดยการดำเนินงานภายหลังการเก็บเกี่ยว มีความต้องการแรงงานมากที่สุด และใช้เวลาในการทำงานสูงที่สุด[4]

การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษา

โดยทั่วไปมันสําปะหลังภายหลังการเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นหัวมันสดจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบ 60-65 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ดังนั้นจึงมีอัตราการเสื่อมคุณภาพที่รวดเร็วมากโดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนชื้น อย่างเช่นประเทศไทย ซึ่งลักษณะการเสื่อมคุณภาพที่ปรากฏให้เห็นในช่วง 3 วันภายหลังการเก็บเกี่ยวเป็นการเสื่อมคุณภาพทางสรีระวิทยา (Physiological Deterioration) โดยสีของเนื้อมันสําปะหลังเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือฟ้าเงินปนดํา หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันลดลง ส่งผลกระทบต่อราคาขาย หลังจากนั้นหัวมันจะเริ่มเน่า ซึ่งเป็นการเสื่อมคุณภาพเนื่องจากการเข้าทําลายของจุลินทรีย์[5]

การเก็บเกี่ยวมันสําปะหลังประกอบด้วยกิจกรรมหลายขั้นตอน คือขั้นตอนการขุดมันสําปะหลังขึ้นจากพื้นดิน ขั้นตอนการรวมกองและตัดเหง้า และขั้นตอนการขนย้ายหัวมันขึ้นรถบรรทุก ซึ่งโดยทั่วไปขั้นตอนการขุดมันสําปะหลังเป็นขั้นตอนที่ใช้กําลังงานมากที่สุดและใช้เวลามากที่สุดเนื่องจากฤดูเก็บเกี่ยวมัสําปะหลังตรงกับฤดูแล้ง ทําให้ดินค่อนข้างแข็งโดยเฉพาะในเดือน ม.ค. - เม.ย. แม้ว่าปัจจุบันจะมีการนําเครื่อง/อุปกรณ์ขุดมันสําปะหลังซึ่งใช้รถแทรกเตอร์สี่ล้อเป็นต้นกําลัง มาช่วยงานเก็บเกี่ยวมันสําปะหลังแต่ไม่พบการใช้งานเครื่อง/อุปกรณ์ขุดมันสําปะหลังซึ่งใช้รถไถเดินตามเป็นต้นกําลัง[6]

ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 8-12 เดือน แต่อายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมคือ 12 เดือนหลังปลูก และไม่ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนตกชุก เนื่องจากหัวมันสำปะหลังจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ[7]

อายุของต้นมันสำปะหลังก่อนเก็บเกี่ยว

มันสำปะหลังเป็นพืชอายุยาว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อใดก็ได้ ผลผลิตหัวสดจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่มันสำปะหลังได้รับ ในขณะที่ปริมาณแป้งในหัวของทุกพันธุ์จะสามารถวัดได้ตั้งแต่เดือนที่ 4 หลังปลูก สำหรับประเทศไทยเกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่อายุ 9-12 เดือน อย่างไรก็ตามอายุที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวจะขึ้นกับพันธุ์ที่ใช้ปลูกด้วย

บุญเหลือ และคณะ (2549)[8] ได้ศึกษาผลของอายุเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 7 ที่อายุ 8 10 12 14 และ 16 เดือนหลังปลูก พบว่าการเจริญเติบโตทางด้านความสูงที่อายุ 8 เดือนมีความสูงต่ำที่สุด ที่อายุ 12 14 และ 16 เดือนมีความสูงไม่แตกต่างกันและเมื่อนำข้อมูล 2 ปีที่ปลูกมาวิเคราะห์ความแปรปรวนพบว่าการเก็บเกี่ยวที่อายุตั้งแต่ 10-16 เดือน ไม่ทำให้ผลผลิตหัวสดแตกต่างกันทางสถิติ ซึ่งอยู่ระหว่าง 4,815-6,082 กก./ไร่ แต่การเก็บเกี่ยวที่อายุ 12 และ 14 เดือน เปอร์เซ็นต์แป้งสูงสุดและไม่แตกต่างกันทางสถิติคือ 32.1 และ33.6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

         อย่างไรก็ตามการเก็บเกี่ยวเมื่ออายุมากกว่า 12 เดือน จะมีผลทำให้น้ำหนักหัวมันสดมากกว่าการเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 12 เดือน แต่จะมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด และช่วยให้การปลูกในฤดูถัดไปอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมเก็บเกี่ยวเมื่อราคามันสำปะหลังสูง และนอกจากนี้เกษตรกรต้องคำนึงถึงความจำเป็นทางเศษฐกิจ ฤดูกาลแรงงานที่จะใช้เก็บเกี่ยวด้วย[9]

         การปลูกมันสำปะหลังกลางฤดูฝนถ้าเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 12 เดือน จะได้ผลผลิตต่ำเพียง 1-2 ตัน/ไร่ เนื่องจากต้นมันสำปะหลังได้รับปริมาณฝนน้อยไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและการสะสมอาหารได้น้อย[10] และเมื่อได้รับน้ำฝนมันสำปะหลังจะนำแป้งที่สะสมไว้ในหัวมาใช้สร้างต้นและใบใหม่ เมื่อเก็บเกี่ยวในช่วงต้นฤดูฝน ผลผลิตมันแห้ง และแป้งจะลดลง[11] ส่วนการปลูกมันสำปะหลังปลายฤดูฝนจะเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ได้ผลผลิตมันแห้งและแป้งสูง เพราะดินมความชื้นน้อย ทำให้หัวมันสำปะหลังมีน้ำน้อยลง จึงทำให้เปอร์เซ็นต์แป้งสูงขึ้น[10] การปลูกมันสำปะหลังนอกฤดูฝน (พฤศจิกายน-เมษายน) ให้ผลผลิตต่ำกว่าการปลูกในช่วงฤดูฝนถึง 25 เปอร์เซ็นต์[12]

ช่วงเวลาขุดเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

มันสำปะหลังเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี เกษตรกรในประเทศไทยส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูแล้ง โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม การเก็บเกี่ยวในฤดูฝน (เมษายนถึงตุลาคม) มีน้อยมาก ซึ่งปริมาณแป้งในหัวมันสำปะหลังของทุกพันธุ์จะสูงสุดเมื่อเก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม และหลังจากเดือนเมษายนไปแล้ว ปริมาณแป้งในหัวจะลดลงเรื่อย ๆ และลดลงต่ำสุดในเดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนตกหนัก เนื่องจากเมื่อมันสำปะหลังได้รับความชื้นจะมีการใช้อาหารและแป้งที่สะสมไว้ในหัวสำหรับการเจริญเติบโตทางลำต้น ตัวอย่างช่วงเวลาขุดเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่เหมาะสมในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยดังนี้

ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวเหมาะสมของฤดูปลูกต้นฝน

  • ภาคเหนือตอนล่าง ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ - สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนพฤษภาคม
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมกราคม - สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนเมษายน
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนกุมภาพันธ์ - สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนเมษายน
  • ภาคกลาง ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ - สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนเมษายน
  • ภาคตะวันออก ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมกราคม - สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนมิถุนายน

หมายเหตุ   ช่วงที่เหมาะสมที่แสดงข้างต้นเป็นการเก็บเกี่ยวเมื่อมันสำปะหลังมีอายุครบ 10-12 เดือนหลังปลูก ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงช่วงของฤดูฝนในแต่ละภูมิภาค หากจะเก็บเกี่ยวให้มีประสิทธิภาพต้องมีข้อมูลด้านภูมิอากาศมาใช้ประกอบการวางแผน

ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวเหมาะสมของฤดูปลูกปลายฝน

  • ภาคเหนือตอนล่าง ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม - สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกันยายน - สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนพฤศจิกายน
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนตุลาคม - สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนพฤศจิกายน
  • ภาคกลาง ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม - สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน
  • ภาคตะวันออก ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน - สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนพฤศจิกายน

หมายเหตุ   ช่วงที่เหมาะสมที่แสดงข้างต้นเป็นการเก็บเกี่ยวเมื่อมันสำปะหลังมีอายุครบ 10-12 เดือนหลังปลูก ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงช่วงของฤดูฝนในแต่ละภูมิภาค หากจะเก็บเกี่ยวให้มีประสิทธิภาพต้องมีข้อมูลด้านภูมิอากาศมาใช้ประกอบการวางแผน

ต้นทุนและการเก็บเกี่ยว

จากต้นทุนการผลิตมันสําปะหลังทั้งหมด มีค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวถึง 34.15 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นค่าขนส่ง 24.39 เปอร์เซ็นต์[13] ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวเป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่สําคัญที่สุดของต้นทุนการผลิตมันสําปะหลัง ทั้งนี้อาจเนื่องจากวิธีการเก็บเกี่ยวมันสําปะหลัง ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนในการขุดด้วยจอบ หรือใช้คานงัดถ้าหากดินมีความชื้นหรือพื้นที่ปลูกเป็นดินทรายมีความร่วนซุยมากก็อาจใช้วิธีการถอน และสําหรับพื้นที่ซึ่งเก็บเกี่ยวในหน้าแล้งดินแห้งหรือแข็งก็จะใช้จอบขุดแบบประยุกต์เพื่อช่วยทุ่นแรง หลังจากนั้นก็มีการสับหัวมันออกจากเหง้าแล้วขนส่งด้วยรถบรรทุกเข้าสู่โรงงานแปรสภาพต่อไป

         จากผลการศึกษาของ A. B. Sukra (1996)[2] พบว่าขั้นตอนที่ต้องการแรงงานมากที่สุดเป็นขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและรวบรวมหัวมันขึ้นรถบรรทุก โดยต้องการแรงงานเท่ากับ 54.5 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดในการผลิตมันสําปะหลัง

         เนื่องจากการเก็บเกี่ยวมันสําปะหลัง ต้องใช้แรงงานจํานวนมากเช่น โรงงานผลิตแป้งมันขนาด 150 ตันแป้ง/วัน ต้องใช้หัวมันสําปะหลังสด 650–750 ตัน ซึ่งต้องใช้คนขุด 650–750 คนต่อวัน เป็นต้น[14] จากการศึกษาลักษณะของแรงงานที่ใช้ในการดําเนินงานภายหลังเก็บเกี่ยว[15] พบว่าโดยทั่วไปเป็นแรงงานภายในหมู่บ้านของเกษตรกรเอง และหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งมีทั้งแรงงานวัยทํางานทั้งเพศชายและหญิง และแรงงานเด็กการเก็บเกี่ยวในพื้นที่ของเกษตรกรรายย่อย โดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลักในการดําเนินการจึงมีอัตราการเก็บเกี่ยวช้าและต้องรอรวบรวมผลผลิตหัวมันสดให้เต็มรถบรรทุกเพื่อประหยัดค่าขนส่งโดยทั่วไปใช้เวลารวบรวมประมาณ 1-3 วัน

 
การขุดมันสำปะหลัง

การขุดเก็บเกี่ยว

วิธีการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังของเกษตรกรไทยปัจจุบัน อาจจำแนกออกเป็น 2 แบบ คือ แบบดั้งเดิมซึ่งขุดมันสำปะหลังด้วยแรงงานคนโดยใช้จอบ/อุปกรณ์ถอนต้น และตัดหัวมันออกจากเหง้าด้วยแรงงานคน และแบบที่เริ่มนิยมใช้งาน คือขุดด้วยเครื่องขุดมันสำปะหลัง และตัดหัวมันออกจากเหง้าด้วยแรงงานคน สำหรับวิธีการตัดหัวมันออกจากเหง้าภายหลังการเก็บเกี่ยวมีเพียงรูปแบบเดียว คือ ใช้แรงงานคนตัวหัวมันสำปะหลัง ก่อนลำเลียงขึ้นรถบรรทุก[16]

เนื่องจากภายหลังการเก็บเกี่ยว จำเป็นต้องลำเลียงหัวมันสดออกจากแปลงเพื่อนำไปส่งยังโรงงานแปรรูปภายในวันเดียวกันให้หมด มิฉะนั้นหัวมันสดที่มีความชื้นสูงจะเกิดการเสื่อมสภาพและทำให้ปริมาณแป้งลดลงซึ่งมีผลต่อราคารับซื้อหัวมันสด ดังนั้นเพื่อประหยัดค่าขนส่ง เกษตรกรจึงพยายามเก็บเกี่ยวในแต่ละวันให้ได้ปริมาณหัวมันเต็มรถบรรทุก ซึ่งรถบรรทุกที่เกษตรกรจัดหาได้มักมีขนาด 6-9 ตัน ทำให้เกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวประมาณ 2-4 ไร่ต่อวัน ซึ่งหมายถึงเกษตรต้องจัดการให้มีการขุด 2-4 ไร่ต่อวัน จากนั้นจึงรวมกอง ตัดเหง้า และขนขึ้นรถบรรทุก ให้เสร็จสิ้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน (ชัยยันต์, 2560)[16]

ดังนั้นการนำเครื่องจักรกลเกษตรเข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคนในการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง จึงเป็นทางเลือกสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวได้ ปัจจุบันพบว่ามีการนำเครื่องมือจักรกลเกษตรเข้ามาใช้ในกระบวนการปลูกและการเก็บเกี่ยว เนื่องจากปัญหาเรื่องต้นทุนในการจ้างแรงงานในภาคการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้น[3]

           เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนทำการขุด ซึ่งนิยมการขุดโดยวิธีเหมาขุดและมีคนรับจ้างขุดมันเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนราคาของการขุดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของดินแห้งหรือไม่ การขุดยากหรือง่าย และมันสำปะหลังนั้นมีหัวดีหรือไม่ดี หัวเล็กหรือหัวใหญ่ มีวัชพืชมากหรือน้อย ถ้าหากไม่ใช้วิธีเหมาขุดก็อาจใช้วิธีจ้างขุดรายวัน ซึ่งค่าจ้างแรงงานในการขุดวิธีนี้จะแพงกว่า แรงงานในการปลูกหรือกำจัดวัชพืช โดยวิธีการขุดนั้นจะทำการตัดต้นมันออกก่อนโดยเหลือเหง้าส่วนล่างของละต้นทิ้งไว้ประมาณ 30-50 เซนติเมตร จากนั้นก็ทำการขุดด้วยจอบ ถ้าหากดินมีความชื้นก็จะใช้วิธีถอนขึ้น หรือขุดตามหัวที่หักหลงเหลืออยู่ในดินอีกทีหนึ่ง ก็จะนำไปกอง ๆ จากนั้นจะทำการสับหัวมันออกจากเหง้า แล้วขนส่งสู่โรงงานแปรสภาพต่อไป โดยไม่ทิ้งไว้ในไร่ เพราะจะทำให้เน่าเสียได้ การทิ้งไว้นานเกิน 4 วัน จะเน่าเสียมาก[9] แต่ปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ใหญ่ที่ไม่สามารถใช้แรงงานคนได้ ก็มักช้าเครื่องจักรกลทางการเกษตรซึ่งจะลดต้นทุนและเก็บเกี่ยวรวดเร็วกว่า

ขั้นตอนการขุดเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน (กรณีเก็บเกี่ยวในแปลงขนาด 100 ไร่) ดังนี้

 
กองรวมต้นพันธ์ุมันสำปะหลัง
 
การตัดต้นพันธ์ุมันสำปะหลัง
 
การตัดท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง

1. การตัดต้นพันธุ์

การขุดหัวมันสำปะหลังโดยใช้รถไถขุดจำเป็นต้องตัดต้นพันธุ์ออกก่อน โดยปกติแรงงานทั่วไป 1 คน สามารถตัดต้นพันธุ์ได้ประมาณ 2,000 ลำ ดังนั้นพื้นที่ 1 ไร่ต้องใช้แรงงานตัดประมาณ 1.5-2 แรง หรือ 150-200 แรงต่อพื้นที่ 100 ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการตัดในแต่ละพันธุ์และความหนาแน่นของประชากรที่ปลูก ในกรณีที่ไม่ต้องเก็บต้นพันธุ์ไว้ปลูกต่อ และลดต้นทุนในการตัดต้นพันธุ์สามารถใช้เครื่องสับย่อยต้นมันสำปะหลังเข้าไปทำงานในแปลงได้ เศษต้นและใบที่ผ่านการสับย่อยก็จะตกอยู่ในแปลงเป็นการเพิ่มปุ๋ยหรืออินทรียวัตถุให้กับดิน

2. การถอนหรือขุดหัวมันสำปะหลัง

โดยปกติหากเป็นการขุดในฤดูฝนซึ่งดินมีความชื้นสูงในเขตพื้นที่ดินทราย หรือทรายปนร่วน ซึ่งโครงสร้างดินมีความร่วนซุยสูง สามารถใช้แรงงานคนถอนทั้งต้นโดยไม่ต้องตัดต้นพันธุ์ออกก่อนจะช่วยประหยัดค่าแรงงานตัดต้นพันธุ์และค่ารถไถขุดหัวมันสำปะหลังได้อีกทางหนึ่ง แต่หากในช่วงฤดูแล้ง ดินแห้งและแข็งไม่สามารถถอนโดยใช้แรงงานคนได้ จำเป็นต้องใช้รถแทรคเตอร์ติดพ่วงเครื่องขุดหัวมันสำปะหลังขุดแทนแรงงานคน ประสิทธิภาพการทำงานของรถแทรคเตอร์ติดพ่วงเครื่องขุด 1 คัน สามารถทำงานได้ประมาณ 12-15 ไร่ ดังนั้นหากมีพื้นที่ 100 ไร่ จำเป็นต้องใช้รถขุดเก็บเกี่ยวประมาณ 6-7 คัน

 
กองมันสำปะหลัง

3. การรวมกองและสับหัวมันสำปะหลังออกจากเหง้า

ขั้นตอนนี้เป็นการตามเก็บหัวมันสำปะหลังที่รถไถขุดขึ้นมา แล้วโยนกองเป็นกลุ่มเพื่อให้สะดวกต่อการสับหัวออกจากเหง้าและขนขึ้นรถบรรทุก ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องจักรหรือเครื่องทุ่นแรงใด ๆ มาช่วยในขั้นตอนนี้ ยังคงจำเป็นต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก

4. การขนหัวมันสำปะหลังขึ้นรถบรรทุกเพื่อส่งโรงงาน

หลังจากสับหัวออกจากเหง้าแล้ว ต้องใช้แรงงานเก็บหัวมันสำปะหลังใส่เข่งหรือภาชนะอื่นแล้วใช้คนแบกขึ้นรถบรรทุก ขั้นตอนนี้ต้องใช้แรงงานค่อนข้างมาก ปัจจุบันมีการคิดค้นออกแบบเครื่องลำเลียงหัวมันสำปะหลังขึ้นรถบรรทุกแทนการใช้แรงงานคนแบก แต่ยังทำงานได้ช้าและไม่คล่องตัวเมื่อต้องย้ายรถบรรทุกไปยังจุดอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา แนวทางที่จะช่วยลดแรงงานได้อีกทางหนึ่ง คือ การใช้รถแทรคเตอร์ติดอุปกรณ์ตักหัวมันสำปะหลังทางด้านหน้า สามารถยกหัวมันสำปะหลังใส่รถบรรทุกได้ครั้งละ 300-500 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับขนาดของตัก) จะช่วยลดจำนวนแรงงานในการแบกและช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น

 
การขุดเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง

วิธีการขุดเก็บเกี่ยวและขนส่งผลผลิตออกไปสู่โรงงาน

การขุดเก็บเกี่ยวและขนส่งผลผลิตออกไปสู่โรงงานเป็นขั้นตอนสุดท้ายในระบบการผลิตมันสำปะหลังซึ่งมีต้นทุนการจัดการสูงคิดเป็น 30-40 เปอร์เซ็นต์ของขั้นตอนการผลิตทั้งระบบ วิธีการขุดเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมในแปลงผลิตขนาดใหญ่มี 3 วิธี ดังนี้

วิธีที่ 1 ขุดหัวมันสำปะหลังโดยถอนทั้งต้น รวมกอง สับหัว และขนขึ้นรถบรรทุกโดยใช้แรงงานคนทั้งหมด

วิธีนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีโครงสร้างดินร่วนซุย ไม่แน่นแข็ง หรือกรณีที่ขุดเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูฝนซึ่งดินมีความชื้นสูง และไม่มีปัญหาด้านแรงงานหรือแรงงานมีราคาถูก ทำได้โดยใช้แรงงานคนถอนมันสำปะหลังทั้งต้นโดยไม่ต้องตัดต้นพันธุ์ออกก่อน แล้ววางให้เป็นแถวเพื่อสะดวกในการสับหัวออกจากเหง้า จากนั้นจึงใช้คนแบกขึ้นรถบรรทุก โดยเฉลี่ยมันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตประมาณ 4 ตัน/ไร่ ต้องใช้แรงงานประมาณ 6-8 แรง วิธีนี้จึงใช้แรงงานมากและทำได้ช้า จึงแนะนำให้ใช้ในกรณีที่รถไถขุดไม่สามารถเข้าทำงานในแปลงได้ และควรใช้ระบบการจ้างเหมาต่อน้ำหนักหัวสดที่ขุดเก็บเกี่ยวได้ จะช่วยให้สามารถควบคุมต้นทุนขุดเก็บเกี่ยวได้

 
การตัดหัวมันสำปะหลังโดยใช้แรงงานคน

วิธีที่ 2 ขุดหัวโดยใช้เครื่องขุด รวบรวมหัว สับหัว และขนขึ้นรถบรรทุกโดยใช้แรงงานคน

วิธีนี้เหมาะสำหรับการขุดในพื้นที่ที่ดินแน่นแข็ง ความชื้นในดินต่ำ หรือการเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง โดยต้องตัดต้นพันธุ์และขนออกจากแปลงก่อน โดยทั่วไปแรงงาน 1 คน สามารถตัดต้นพันธุ์ได้ประมาณ 2,000 ลำ ดังนั้นพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ต้องใช้แรงงานตัดประมาณ 1.5-2 แรง หรือ 150-200 แรงต่อพื้นที่ 100 ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการตัดในแต่ละพันธุ์และความหนาแน่นของประชากรที่ปลูก แล้วใช้รถไถติดเครื่องขุดหัวมันสำปะหลังทำการไถขุดให้หัวมันสำปะหลังขึ้นมาอยู่บนผิวดิน จากนั้นจึงใช้แรงงานคนเก็บรวมกอง สับหัวออกจากเหง้า แล้วใช้แรงงานคนแบกขึ้นรถบรรทุกเพื่อส่งเข้าโรงงานต่อไป

วิธีนี้ช่วยให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น และช่วยลดจำนวนแรงงาน สำหรับประสิทธิภาพการทำงานของรถไถติดเครื่องขุดหัวมันสำปะหลัง 1 คัน สามารถทำงานได้ประมาณ 12-15 ไร่ ดังนั้นหากมีพื้นที่ 100 ไร่ จำเป็นต้องใช้รถขุดเก็บเกี่ยวประมาณ 6-7 คัน

วิธีที่ 3 ขุดหัวโดยใช้เครื่องขุด รวบรวมหัวและสับหัวโดยใช้แรงงานคน และขนขึ้นรถบรรทุกโดยใช้รถตัก

วิธีการทำเช่นเดียวกับวิธีที่ 2 แต่ในขั้นตอนการขนหัวมันสำปะหลังขึ้นรถบรรทุกจะใช้เครื่องลำเลียงหัวมันสำปะหลังหรือใช้รถตักแทนการใช้แรงงานคนแบก ทำให้ประหยัดแรงงานในขั้นตอนการแบก และทำงานได้เร็วขึ้น การใช้รถตักสามารถยกหัวมันสำปะหลังใส่รถบรรทุกได้ครั้งละ 300-500 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับขนาดของตัก) ซึ่งสามารถใช้รถไถที่มีอยู่ติดอุปกรณ์ตักหัวมันสำปะหลังทางด้านหน้า โดยไม่จำเป็นต้องจัดหารถไถคันใหม่

การเสื่อมคุณภาพของหัวมันสำปะหลัง และการเก็บรักษา

เมื่อนําหัวมันสําปะหลังมาตัดในแนวขวางจะเห็นชั้นของเปลือก (Peel) และชั้นของเนื้อ (Pulp) ซึ่งเก็บสะสมอาหารพวกแป้งโดยเปลือกจะประกอบด้วย ชั้นของ periderm , selerenchyma , cortical , parenchyma และ phloem ถัดจากชั้นของเปลือกจะเป็น cambium และถัดเข้าไปจะเป็นส่วนของparenchyma ซึ่งเป็นแหล่งสะสมแป้งในกลุ่มเซลล์ parenchyma จะมี xylem bundle และ Fibe[17]

         เนื่องจากหัวมันสําปะหลังมีส่วนประกอบที่เป็นน้ำประมาณ 60-65 เปอร์เซ็นต์ดังนั้นจึงมีอัตราการเสื่อมคุณภาพที่รวดเร็วมากและเมื่อมีการเสื่อมคุณภาพเกิดขึ้นแล้วจะทําให้การยอมรับในการบริโภคและการนําไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆลดลง สําหรับลักษณะการเสื่อมคุณภาพที่ปรากฏให้เห็นภายใน 3 วันหลังการเก็บเกี่ยว คือสีของเนื้อเยื่อ parenchyma และท่อน้ำ เริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือฟ้าเงินปนดํา หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและจะเกิดการเข้าทําลายของจุลินทรีย์ภายใน 5-7 วันหลังเก็บเกี่ยวส่วนของ Fiber (เสรี, 2551)[17]

Wheatley and Schwabe (1985[18]) ได้แบ่งขั้นตอนการเสื่อมคุณภาพของหัวมันสําปะหลังออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ

การเสื่อมคุณภาพทางสรีระวิทยา (Phisiological Deterioration)

เกิดขึ้นเนื่องจากการอุดตันของท่อน้ำโดยคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และสารประกอบคล้ายลิกนิน รวมทั้งการสร้างสารประกอบเรืองแสงในเนื้อเยื่อ parenchyma โดยในระยะแรกจะตรวจพบสารประกอบ phenolic, leucoanthocyanin และcathechin ในท่อน้ำ ซึ่งสารประกอบเหล่านี้จะเปลี่ยนรูปไปเป็นแทนนิน ทําให้เห็นสีฟ้าเงินและดํา และในส่วนของเนื้อเยื่อ parenchyma ก็พบ scopoletin และ coumarin โดยในหัวสดจะพบ scopoletin เพียงเล็กน้อยและพบในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังเก็บเกี่ยว (จากน้อยกว่า 1.0 ไมโครกรัมต่อกรัม เป็นมากกว่า250 ไมโครกรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง) และพบว่าถ้าหากมีการให้ scopoletin แก่หัวมันสําปะหลังสดจะทําให้หัวมันสดมีการเสื่อมสภาพทางสรีรวิทยาอย่างรวดเร็ว ในหัวมันสําปะหลังสดที่มีการเสื่อมสภาพช้าพบว่ามีการสะสมของ scopoletin น้อยกว่าหัวที่เสื่อมคุณภาพเร็ว

การเสื่อมคุณภาพเนื่องจากการเข้าทําลายของจุลินทรีย์

ซึ่งทําให้หัวเน่าโดยจุลินทรีย์จะเข้าทําลายหัวมันสําปะหลังภายใน 5-7 วันหลังเก็บเกี่ยวดังนั้นอาจเห็นแถบสีฟ้าเงินดําเกิดขึ้นเช่นเดียวกันโดยจะพบในบริเวณทั่วไปที่สดและอ่อนนุ่มของหัว ซึ่งแตกต่างจากการเสื่อมคุณภาพทางสรีรวิทยาที่จะเห็นเนื้อเยื่อสีฟ้าเงินดําในส่วนของท่อน้ำ (Xylem)

เนื่องจากการเสื่อมคุณภาพทางสรีรวิทยาของหัวมันสําปะหลังต้องการออกซิเจนเพื่อการทํางานของเอนไซม์ ดังนั้นอาการเริ่มต้นของการเสื่อมคุณภาพ มักพบในบริเวณใกล้กับรอยแผลที่เกิดขึ้นที่หัวเนื่องจากการตัดหัวมันออกจากเหง้า เนื่องจากออกซิเจนสามารถเข้าสู่เซลล์ parenchyma ได้ง่าย[18]

การป้องกันการเสื่อมคุณภาพของหัวมันสําปะหลังสามารถทําได้โดยการกําจัดออกซิเจนที่จะเข้าสู่เซลล์ parenchyma หรือยับยั้งการทํางานของเอนไซม์ในปฏิกริยานั้นเอง ซึ่งตามหลักการสามารถทําได้โดยการเก็บรักษาหัวมันสําปะหลังในสภาพบรรยากาศที่มีเฉพาะไนโตรเจนหรือคาร์บอนไดออกไซด์หรือในสภาพสูญญากาศ หรืออาจจะห่อหุ้ม หัวมันสําปะหลังด้วยชั้นบาง ๆ ของขี้ผึ้ง นอกจากนี้การเก็บรักษาหัวมันสําปะหลังไว้ในสภาพอุณหภูมิต่ำ (ต่ำกว่า 2องศาเซลเซียส) ก็ช่วยยับยั้งการทํางานของเอนไซม์เช่น polyphenol oxidase และ peroxidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทําให้เนื้อเยื่อของมันสําปะหลังเปลี่ยนเป็นสีฟ้าเงินดําเมื่อมีการเสื่อมคุณภาพ[17]

จากรายงานของ Booth (1976)[19] พบว่า มันสําปะหลังและพืชหัวอื่นๆ มีกระบวนการรักษารอยแผลที่เกิดขึ้นที่หัวโดยการสร้าง suberin ขึ้นมาปิดบริเวณแผลโดยถ้าอยู่ในสภาพที่เหมาะสม คืออุณหภูมิระหว่าง 30-40 องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ 85 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป การสร้าง suberin ขึ้นมาปิดรอยแผลจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน ถ้ากระบวนการรักษารอยแผลเกิดขึ้นในทันทีหลังการเก็บเกี่ยวการเสื่อมคุณภาพทางสรีรวิทยาจะไม่เกิดขึ้นและหัวมันสําปะหลังก็จะยังคงสภาพ อยู่ได้แต่อย่างไรก็ตามสภาพที่เหมาะสมต่อการสร้าง suberin ปิดรอยแผล ซึ่งต้องการอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์สูงแต่ก็เป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์เช่นเดียวกัน ดังนั้นวิธีการป้องกันที่ทําได้ก็คือลดความชื้นสัมพัทธ์ให้ต่ำลงจนอยู่ในช่วงที่ทําให้การเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ช้าลงแต่ไม่ช้าจนยับยั้งกระบวนการรักษาแผล ซึ่งในทางปฏิบัติอาจทําได้ยากอีกวิธีหนึ่งที่ทําได้ง่ายกว่าคือการใช้สารเคมียับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์แต่สิ่งที่สําคัญคือสารเคมีที่ใช้จะต้องไม่ทิ้งผลตกค้างที่เป็นพิษต่อผู้บริโภคอย่างไรก็ตาม การลดเวลาระหว่างขั้นตอนการเก็บเกี่ยวกับขั้นตอนการแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป โดยรีบนํามันสําปะหลังภายหลังการเก็บเกี่ยวไปแปรรูปใช้ประโยชน์ทันทีจะทําให้ไม่จําเป็นต้องเก็บรักษา และหลีกเลี่ยงปัญหาการเสื่อมสภาพของหัวมันภายหลังการเก็บเกี่ยว

การปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยว

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวนําผลผลิตหัวมันสดส่งโรงงานทันที ไม่ควรเก็บไว้เกิน 2 วัน เพราะจะเน่าเสีย การขนส่งรถบรรทุกหัวมันสําปะหลังต้องสะอาดและเหมาะสมกับปริมาณ หัวมันสด ไม่ควรเป็นรถที่ใช้บรรทุกดิน สัตว์ หรือมูลสัตว์ เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคปาก และเท้าเปื้อย และไม่ควรเป็นรถที่บรรทุกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือถั่วลิสง เพราะอาจมีการปนเปื้อน ของสารพิษอะฟลาทอกซิน ยกเว้นจะมีการทําความสะอาดอย่างเหมาะสมก่อนนํามาบรรทุกหัวมันสําปะหลัง และไม่ควรเป็นรถที่ใช้บรรทุกปุ๋ยเคมีและสารป้องกันกําจัดศัตรูพืช[20]

เครื่องจักรกลเกษตรด้านการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง

เนื่องจากแรงงานปัจจุบันไม่นิยมการทํางานในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะงานหนักเช่นการขุดมันสําปะหลังจึงมีความพยายามในการพัฒนาอุปกรณ์หรือเครื่องจักรกลเกษตร มาทดแทนแรงงานคนในการเก็บเกี่ยวมันสําปะหลังหลากหลายรูปแบบ ทั้งโดยโรงงานเครื่องจักรกลเกษตรและโดยหน่วยงานวิจัยของรัฐ[6]

         ในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งในระบบการผลิตที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความสูญเสีย ความเสียหาย คุณภาพของผลผลิตโดยหัวมันที่ทำการขุดแล้วหากไม่ได้รับการแปรรูปภายใน 2 วัน คุณภาพจะลดอย่างมาก[21] [22]และต้นทุนการผลิตมันสำาปะหลัง โดยพบว่าต้นทุนในการผลิตมันสำปะหลังนั้น ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวมีสัดส่วนการลงทุนสูงสุด (27%) รองลงมาได้แก่ค่าปุ๋ย ค่าเตรียมดิน ค่ากำจัดวัชพืช ค่าขนส่ง และค่าท่อนพันธุ์และแรงงานปลูกในสัดส่วนร้อยละ 18 17 16 13 และ 7 ตามลำดับ[23] โดยค่าจ้างแรงงานเป็นสัดส่วน ค่าใช้จ่ายสูงสุดในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายในการผลิตพืชเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ยกเว้นในการผลิตข้าว[24] ทั้งนี้เนื่องจากใช้แรงงานคนเป็นหลัก เพื่อการขุดหรือถอน การตัดส่วนที่เป็นหัวออกจากโคนต้น และรวบรวมขึ้นรถบรรทุกเพื่อการขนย้ายไปจำหน่าย และประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานเช่นเดียวกับการผลิตพืชอื่นในภาคเกษตร เนื่องจากแรงงานเคลื่อนย้ายสู่นอกภาคเกษตร ทั้งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และทำให้ค่าจ้างแรงงานในภาคเกษตรสูงขึ้นเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต


รถแทรกเตอร์ต้นกำลังในกระบวนการผลิตมันสำปะหลัง

ต้นกำลังที่ใช้ในกระบวนการปลูกมันสำปะหลัง ทำหน้าที่ตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน การปลูก ดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวเป็นรถแทรกเตอร์นั่งขับแบบ 4 ล้อ ขนาด 35-90 แรงม้าเป็นต้น (ชัยยันต์, 2560)[16]

 
เครื่องแมคโครขุดมันสำปะหลัง

เครื่องขุดมันสำปะหลัง

กระบวนการปลูกมันสำปะหลังในปัจจุบัน ใช้รถแทรกเตอร์เป็นต้นกำลังในการเตรียมดินและมีลักษณะการปลูกแบบยกร่องและปักท่อนพันธ์เป็นเส้นตรงตามความยาวของแถว เครื่องขุดมันสำปะหลังส่วนใหญ่จึงออกแบบมาให้ใช้ในการขุดแบบเปิดหรือระเบิดดินออกด้านข้างเพื่อให้หัวมันและเหง้ามันสำปะหลังขึ้นมาอยู่ด้านบนผิวดิน ซึ่งการออกแบบหัวขุดในปัจจุบันมีหลากหลายรูปทรง เช่น ทรงเหลี่ยม ครึ่งวงกลม แบบหัวหมู และทำมุมการขุดอยู่ระหว่าง 30-33 องศา[25]

การพัฒนาเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวหรือที่เรียกว่า”เครื่องขุดมันสำปะหลัง”ในปัจจุบันมีความหลากหลายทั้งในด้านการออกแบบ วัสดุ รูปทรง และเครื่องต้นกำลัง โดยทั้งหมดนั้นมีเป้าหมายเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรจะยึดกับเครื่องต้นกำลังนั่นคือรถแทรกเตอร์ โดยรถแทรกเตอร์มีบทบาทในกระบวนการปลูกมันสำปะหลังหลายกระบวนการ ดังนั้นจึงพบว่าเครื่องขุดมันสำปะหลังส่วนใหญ่จึงเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งในรถแทรกเตอร์ชนิดของการต่อเชื่อมกับรถแทรกเตอร์แบบลากจูงเป็นหลัก[16]

อนุชิต (2553)[26] รายงานว่าปัญหาระบบการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่มีสัดส่วนการลงทุนสูงสุดในระบบการผลิตมันสำปะหลัง อันเนื่องมากจากต้องใช้แรงงานคนเป็นหลักและประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 กิจกรรม คือ พัฒนาเครื่องขุด และเก็บหัวมันสำปะหลังแบบพ่วงติดท้ายรถแทรกเตอร์ ขนาด 50 แรงม้า เพื่อให้สามารถทำการขุดและเก็บรวมกองเหง้ามันสำปะหลังในคราวเดียวกัน ดำเนินการโดยสร้างชุดทดสอบ ออกแบบ สร้างและปรับปรุงแก้ไขเครื่องต้นแบบ มีส่วนประกอบหลักคือส่วนผาลขุด ส่วนการหนีบลำเลียง และกระบะบรรทุกชนิดลากพ่วง ทำงานโดยเหง้ามันสำปะหลังจะถูกขุดด้วยส่วนผาลขุด แล้วจะถูกหนีบจับและลำเลียงส่งมายังส่วนกระบะบรรทุก เพื่อนำมาเทรวมกองสำหรับการตัดหัวออกจากเหง้า ทั้งระบบการเก็บเกี่ยวมีอัตราการทำงาน 0.39 ไร่/ชั่วโมง สามารถลดแรงงานได้ 4.5 เท่า ของระบบการเก็บเกี่ยวเดิมที่ใช้แรงงานคนทุกขั้นตอน ผลการวิเคราะห์การลงทุนที่อายุการใช้งาน 7 ปี เพื่อทดแทนระบบการเก็บเกี่ยวแบบใช้แรงงานคนทั้งหมด แบบใช้เครื่องขุดมันสำปะหลังร่วมกับการใช้แรงงานคน และการจ้างเหมาขุด

วิจัยและพัฒนาเครื่องมือตัดหัวมันสำปะหลังออกจากเหง้า เพื่อลดการใช้แรงงาน และเพิ่มความสามารถในการตัดตัดหัวมันสำปะหลังออกจากเหง้าภายหลังการขุดหัวและเหง้ามันสำปะหลังขึ้นมาจากดิน ซึ่งเป็นปัญหาลักษณะคอขวดที่สำคัญในระบบการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ดำเนินการโดยศึกษา เลือกใช้ และพัฒนาส่วนการตัดและส่วนการขับใบตัด ผลการศึกษาและพัฒนาได้เครื่องมือตัดแบบใบเลื่อยชักระบบนิวแมติกส์ มีความสามารถในการตัด 615 กิโลกรัม/ชั่วโมง ใกล้เคียงกับการตัดด้วยแรงงานหญิงในระบบการตัดหัวมันสำปะหลังออกจากเหง้าของระบบปฏิบัติเดิม ช่วยลดความเหนื่อยยากของแรงงาน แต่ต้นทุนสูงกว่า มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาต่อเพื่อเพิ่มความสมารถในการทำงานและมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้นต่อไป

 
เครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง


การพัฒนาเครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังแบบเบ็ดเสร็จของไทย

การพัฒนาเครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในปัจจุบัน เป็นการนำเอาขั้นตอนของการขุด การลำเลียง และขนย้ายเหง้ามันสำปะหลัง ติดตั้งและทำงานพร้อมกันในเครื่องเดียวกัน เริ่มต้นด้วยระบบการขุดเป็นการนำหัวขุดหรือผาลขุดติดตั้งในโครงไถที่สร้างขึ้นและเชื่อมต่อกับรถแทรกเตอร์ในระบบการต่อพ่วงแบบ 3 จุด Three-Point Hitch ทำหน้าที่ในการขุดเปิดร่องแยกมวลดินและเหง้ามันสำปะหลังออกจากกัน ระบบลำเลียงออกแบบเป็นลักษณะโซ่ปีกทำงานร่วมกับสายพานหรือแผ่นยางป้องกันการลื่นและช่วยสร้างแรงยึดเกาะ โดยใช้โซ่ปีกจำนวน 2 ชุด ทำงานโดยการหมุนในทิศทางตรงข้ามกัน[27] ด้วยชุดเฟืองขับจากปั้มไฮดรอลิกส์ต่อผ่านระบบเพลาอำนวยกำลัง PTO เรียกลักษณะการลำเลียงแบบนี้ว่าการคีบ ซึ่งจะใช้ส่วนของลำต้นเหนือพื้นดินหลังการตัดต้นเป็นตำแหน่งในการคีบ ชุดโซ่ลำเลียงนี้จะต่อร่วมกับระบบการขุด เพื่อลำเลียงเหง้าพร้อมหัวมันสำปะหลังไปยังอุปกรณ์ขนย้ายที่มีลักษณะเป็นกระบะบรรทุกแบบมีล้อ ต่อพ่วงแบบกึ่งลากจูงกับชุดโครงขุดและลำเลียง เมื่อทำการเก็บเกี่ยวจนเต็มกระบะบรรทุกจะทำการเทรวมกองกันไว้เป็นจุดๆ เพื่อใช้แรงงานคนในการสับแยกเหง้าและลำเลียงขึ้นรถบรรทุกต่อไป จึงสรุปได้ว่ายังไม่สามารถช่วยลดการใช้แรงงานในกระบวนการขนย้ายรวมกอง และสับแยกเหง้าได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ระบบการลำเลียงที่กล่าวมานั้นมีชิ้นส่วนทางกลที่ต้องการการปรับตั้ง การหล่อลื่น การบำรุงรักษาเป็นพิเศษ ซึ่งในการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังจะมีฝุ่นละออง เศษวัสดุจำนวนมากส่งผลต่ออายุการใช้งานของระบบโซ่ลำเลียง รวมถึงความยาวของรถแทรกเตอร์ต้นกำลังรวมกับอุปกรณ์การขุด ระบบลำเลียงเหง้าและอุปกรณ์การขนย้ายเหง้ามันสำปะหลังที่มีการใช้งานแบบต่อพ่วงกึ่งลากจูง เมื่อทำการเก็บเกี่ยวจริงจะต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยวหัวงานมากเป็นพิเศษ ซึ่งไม่สะดวกในการทำการเก็บเกี่ยวในพื้นที่ที่หน้ากว้างของแปลงปลูกไม่สม่ำเสมอ และระบบการตัดแยกเหง้า ถือเป็นกลไกที่มีความสำคัญประการสุดท้ายของเครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังเนื่องจากเครื่องเก็บเกี่ยวที่กล่าวมาข้างต้นยังคงต้องใช้แรงงานคนในการตัดแยกเหง้า หากเครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังมีกระบวนการครบถ้วนและสามารถลดการใช้แรงงานคนได้จริง ต้องทำงานได้ครบบริบทในการขุด ลำเลียง และแยกเหง้า ไปในกระบวนการเดียวกัน แต่ในปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการแยกเหง้าเพียงในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น[16]


 
เครื่องลำเลียงมันสำปะหลังขึ้นรถบรรทุก

เครื่องลำเลียงมันสำปะหลังขึ้นรถบรรทุก

เครื่องลำเลียงหัวมันสำปะหลังขึ้นรถบรรทุก เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อลดการใช้แรงงานคน เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวนั้นจะต้องใช้แรงงานพิเศษคือต้องเป็นแรงงานที่มีร่างกายแข็งแรงมาก ดังนั้นจึงทำให้ค่าจ้างแรงงานในส่วนนี้สูงกว่ากระบวนการรวบรวม หรือกระบวนการสับเหง้า ดังนั้นการใช้เครื่องมือดังกล่าว นอกจากจะช่วยในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายหรือการใช้แรงงานแล้วยังทำให้สามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานเรื่องการยกสิ่งของหนักได้อีกด้วย[28]

อ้างอิง

  1. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2556. สถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้มปี 2556: มันสำปะหลัง. แหล่งที่มา: http://www.oae.go.th/ewt_news.php?nid=13577.
  2. 2.0 2.1 Sukra, A.B. 1996. Performance of API cassava root digger elevator. MARDI Report, no. 187. Agricultural Research and Development Institute, Kuala Lumpur.
  3. 3.0 3.1 มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสําปะหลังแห่งประเทศไทย. 2547.  เกี่ยวกับมันสําปะหลัง.  http://www.tapiocathai.org.
  4. ชัยยันต์ จันทร์ศิริ. 2560. การพัฒนาระบบการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในประเทศไทย. Postharvest Newsletter. มหาวิทยลัยข่อนแก่น: https://www.phtnet.org/2017/06/348/. 11 มีนาคม 2564.
  5. กรมวิชาการเกษตร. 2537. เอกสารวิชาการมันสำปะหลัง. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ม กรุงเทพฯ.
  6. 6.0 6.1 เสรี วงส์พิเชษฐ. 2551. โครงการการวิจัยและพัฒนาเครื่องขุดมันสําปะหลังโดยใช้รถไถเดนตามเปลี่ยนต้นกําลัง. ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. 43 หน้า.
  7. กรมวิชาการเกษตร. 2547. เอกสารวิชาการมันสำปะหลัง. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ม กรุงเทพฯ.
  8. บุญเหลือ ศรีมุงคุณ, จำลอง กกรัมย์ และวงเดือน ประสมทอง. 2549. ผลของอายุเก็บเกี่ยวและการจักการวัชพืชต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 7. ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตร,: 30 หน้า.
  9. 9.0 9.1 สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน. ม.ป.ป.. มันสำปะหลัง.เอกสารวิชาการฉบับที่ 1001- Do 46.01. กรมพัฒนาที่ดิน. กรุงเทพฯ.: 97 หน้า.
  10. 10.0 10.1 วุฒิศักดิ์ พรพรหมประทาน, ประวัติ อุทโยภาศ และอนุชิต ทองกล่ำ. 2539. การเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 ที่ปลูกกลางฤดูฝน. หน้า 226-229. ใน รายงานผลงานวิจัยประจำปี 2539 มันสำปะหลัง. ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  11. โอภาษ บุญเส็ง, ดนัย ศุภาหาร, ดลใจ แพทย์กะโทก และเมธี คำหุ่ง. 2543. การเปรียบเทียบพันธุ์มันสำปะหลังในไร่เกษตรกรเพื่อปลูกปลายฝน. หน้า 347-356. ใน รายงานผลงานวิจัย 2543 มันสำปะหลัง. สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  12. สมพงษ์ กาทอง. 2537. การเขตกรรมมันสำปะหลัง. หน้า 71-83. ใน เอกสารวิชาการมันสำปะหลัง. ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  13. สํานักงานเกษตรอําเภอลําสนธิจังหวัดลพบุรี. 2552. ต้นทุนการผลิตพืช. Available from :http://lopburi.doae.go.th/lamsonti/tontun.htm.
  14. ศุภวัฒน์ ปากเมย. 2540. การออกแบบและประเมินผลเครื่องขุดมันสําปะหลัง. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท. สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตรคณะวิศวกรรมศาสตร์. ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  15. เชิดพงษ์ เชี่ยวชาญวัฒนา. 2549. การออกแบบและทดสอบอุปกรณ์ช่วยขนย้ายมันสําปะหลังขึ้นรถบรรทุก. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท. สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตรคณะวิศวกรรมศาสตร์. ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 ชัยยันต์ จันทร์ศิริ. 2560. การพัฒนาระบบการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในประเทศไทย. Postharvest Newsletter. มหาวิทยลัยข่อนแก่น: https://www.phtnet.org/2017/06/348/. 11 มีนาคม 2564.
  17. 17.0 17.1 17.2 เสรี วงส์พิเชษฐ. 2551. โครงการการวิจัยและพัฒนาเครื่องขุดมันสําปะหลังโดยใช้รถไถเดนตามเปลี่ยนต้นกําลัง. ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. 43 หน้า.
  18. 18.0 18.1 Wheatley, C.C. and W.W. Schwabe. (1985). Scopoletin Involvement in Post-Harvest Physiological Deterioration of Cassava Root (Manihot esculenta Crantz). Journal of Experimental Botany. 36(5):783-791.
  19. Booth, R.H., Buckle T.S., Cardenas O.S., Gomez G. and Hervas E. (1976). Changes in quality of cassava roots during storage. International Journal of Food Science & Technology. 11(3):245-264.
  20. บัณฑิต หิรัญสถิตพร, จาตุพงศ์ วาฤทธิ์, นำพร ปัญโญใหญ่, ราวุ น่วมปฐม และเอ็จ สโรบล. 2552. เครื่องขุดมันสําปะหลังพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก. ในรายงานผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้: 46 หน้า.
  21. Thanh, N.C., S. Muttamara, B.N. Lohani, B.V.P.C. Raoand and S. Burintaratikul. 1979. Optimization of drying and pelleting techniques for tapioca roots. Environmental Engineering division Asian Institute of technology Thailand.
  22. พร้อมพันธุ์ เสรีวิชยสวัสดิ์. 2549. อิทธิพลของระยะเวลาเก็บเกี่ยวหลังการตัดต้นที่มีต่อผลผลิตและคุณภาพของหัวมันสำปะหลัง. มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งปะเทศ. สืบค้นจาก : http://www.tapiocathai.org/reference/03.htm [มี.ค. 2556]
  23. สุรพงษ์ เจริญรัถ, นันทวรรณ สโรบล, กุลศิริ กลั่นนุรักษ์, อาภาณี โภคประเสริฐ, เสาวรี ตังสกุล, จรุงสิทธิ์ ลิ่มศิลา และอุดม เลียบวัน. 2550. กิจกรรมการศึกษาโอกาสและข้อจำกัดของการผลิตพืชไร่ เศรษฐกิจสำคัญงานทดลองประเมินความคุ้มค่าการลงทุนและสภาวะความเสี่ยงของเกษตรกรจากความแปรปรวนด้านการผลิตและราคาของผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อย, น.135-139. เอกสาร ประกอบการสัมมนาเรื่องแนวทางการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง.159 น.
  24. Anuchit Chamsing. 2007. Agricultural Mechanization Status and Energy Consumption for Crop Production in Thailand. AIT Diss No. AE…(In process). Asian Institute of Technology.
  25. สามารถ บุญอาจ. 2543. การออกแบบและพัฒนาเครื่องเก็บหัวมันสำปะหลังแบบติดพ่วงกับรถแทรกเตอร์.  วิทยานิพนธ์ปริญญาโท. สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.
  26. อนุชิต ฉ่ำสิงห์. 2553. โครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องขุดเก็บมันสำปะหลังและเครื่องมือตัดหัวมันสำปะหลังจากเหง้า. กรมวิชาการเกษตร.
  27. วิชา หมั่นทำการ. 2552. เครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง. ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.rdi.ku.ac.th. (30 กันยายน 2553).
  28. ชัยยันต์ จันทร์ศิริ และเสรี วงส์พิเชษฐ. 2556. การศึกษาและพัฒนาอุปกรณ์ลำเลียงมันสำปะหลังขึ้นรถบรรทุก. วารสารวิจัย มข. 18(2): 212-220.