สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช

รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:06, 24 สิงหาคม 2564 โดย Kanokphorn Chatchaisiri(คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

แบ่งกลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชตามคุณสมบัติดังนี้

ตามการออกฤทธิ์ต่อเชื้อสาเหตุโรคพืชแต่ละชนิดแก้ไข

เนื่องจากโรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตจะเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์หลัก จึงมีการแบ่งประเภทสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชตามชนิดของเชื้อสาเหตุโรคพืชต่างๆ ดังนี้

  1. สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา
  2. สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อแบคทีเรีย
  3. สารเคมีป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอย
  4. สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อไวรัส

การแบ่งประเภทสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชตามบทบาทในการป้องกันกำจัดโรคพืชแก้ไข

  1. สารที่มีคุณสมบัติป้องกัน (Preventative activity) คือสารเคมีที่มีคุณสมบัติป้องกันไม่ให้เชื้อสาเหตุโรคพืชเข้าทำลาย โดยเมื่อฉีดพ่นสารเหล่านี้จะอยู่ที่ใบ เมื่อสปอร์เชื้อราตกลงบนใบพืชและงอกเป็น germ tube มาสัมผัสกับสารในกลุ่มนี้ที่อยู่บนใบ germ tube จะตายหรือไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ
  2. สารที่มีคุณสมบัติป้องกันกำจัดในช่วงเริ่มต้นของการเข้าทำลายและยังไม่ปรากฏอาการของโรค (Curative activity) สารเหล่านี้สามารถแทรกซึมเข้าไปในเซลล์พืชและยับยั้งพัฒนาการของโรคในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่แสดงอาการของโรค ซึ่งจะได้ผลดีมากเมื่อฉีดพ่นในช่วงเวลา 24-72 ชั่วโมงหลังการเข้าทำลาย สารชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นสารชนิดป้องกันเนื่องจากสารบางส่วนจะตกค้างที่ผิวใบ
  3. สารที่มีคุณสมบัติกำจัด (Eradicative activity) สารกลุ่มนี้มีความสามารถในการดูดซึมเข้าไปในเซลล์พืชและเคลื่อนที่ได้ในระยะใกล้ภายในใบ หรือระยะไกลสู่ยอดหรือราก สารชนิดนี้สามารถยับยั้งการพัฒนาของโรค ยับยั้งการเจริญของเชื้อในเซลล์พืช ยับยั้งการสร้างสปอร์หรือส่วนขยายพันธุ์ จำทำให้ลดการแพร่กระจายของเชื้อสาเหตุโรคพืชได้ด้วย

การแบ่งประเภทของสารเคมีตามคุณสมบัติการเคลื่อนย้ายในพืชแก้ไข

  1. สารประเภทสัมผัสตาย (Contact fungicides) สารประเภทนี้เมื่อฉีดพ่นสารจะตกค้างอยู่ที่ผิวใบ เมื่อสปอร์ตกลงบนใบเมื่องอก germ tube จะตายหรือไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ
  2. สารที่เคลื่อนที่ได้ในระยะใกล้ (Localized penetrant หรือ Locally systemic fungicides) คือสารเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชที่อยู่บนผิวใบและภายในใบ โดยสามารถดูดซึมเข้าในใบและเคลื่อนย้ายในใบได้ระยะสั้นๆ
  3. สารที่เคลื่อนที่สู่ยอด (Acropetal penetrant หรือ Xylem-mobale หรือ Upwardly systemic fungicides) เป็นสารที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชทั้งที่เจริญบนใบ ภายในใบ ลำต้นของพืช และส่วนเจริญของพืชเช่นยอด ตา ใบอ่อนได้ โดยสารมคุณสมบัติเคลื่อนย้ายไปตามท่อน้ำ (Xylem) สู่ด้านบนหรือไปยังยอดอ่อนในพืช
  4. สารที่เคลื่อนย้ายจากบนใบไปใต้ใบ (Translaminar fungicides) เป็นสารเคมีที่พัฒนาเพื่อควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคที่เจริญอยู่ใต้ใบได้ เช่น ราสนิม ราน้ำค้าง เป็นต้น โดยสารดังกล่าวมีคุณสมบัติสามารถเคลื่อนที่จากผิวใบไปใต้ใบได้
  5. สารประเภทดูดซึม (Systemic หรือ Amphimobile fungicides) เป็นสารเคมีที่สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ยอดและปลายรากไปสู่ยอด และปลายราก ตามท่อน้ำและท่ออาหาร (Phloem) สารในกลุ่มนี้สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อทั้งที่เจริญอยู่บนผิวพืช ภายในใบ รากและลำต้น
  6. สารที่เคลื่อนที่กระจายทั่วใบ (Mesostemic fumgicides) เป็นสารเคมีที่สามารถเคลื่อนย้ายไปบริเวณใกล้เคียงในรูปของไอหรือก๊าซได้ รวมทั้งยังถูกดูดซึมและเคลื่อนที่ไปใต้ใบได้ โดยสามารถยึดเกาะได้ดีบนผิวใบโดยยึดติดกับแว๊กซ์
  7. สารที่เคลื่อนที่ได้ (Mobile fungicides) สารประเภทนี้อาจเป็นสารชนิดดูดซึมหรือไม่ดูดซึม แต่สารมารถเคลื่อนย้ายจากบริเวณที่ฉีดพ่นไปยังบริเวณที่ไม่ถูกสารได้ โดยสารชนิดไม่ดูดซึมบางชนิดสามารถเคลื่อนย้ายในรูปของไอหรือก๊าซได้
  8. สารชนิดไม่ดูดซึม (Non-systemic fungicides) เป็นสารที่มีคุณสมบัติป้องกัน เมื่อฉีดพ่นสารจะอยู่ที่ผิวใบไม่สามารถแทรกซึมหรือถูกดูดซึมเข้าสู่ภายในต้นพืช การแพร่กระจายของสารอาจเกิดขึ้นพียงเล็กน้อยในรูปของไอระเหยหรือโดยการไหลไปตามน้ำ

การแบ่งประเภทสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชตามกลไกการออกฤทธิ์ในกิจกรรมเมตาบอไลต์ในเซลล์ของเชื้อสาเหตุโรคพืช (Breadth of metabolic activity)แก้ไข

แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  1. สารที่มีกลไกออกฤทธิ์เฉพาะจุด (Single-site fungicides) สารกลุ่มนี้จะส่งผลยับยั้งการทำงานเพียงหนึ่งจุดในกระบวนการเมตาบอไลต์ภายในเซลล์เชื้อสาเหตุ
  2. สารที่มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งหลายจุด (Multi-site fungicides) สารในกลุ่มนี้สามารถเข้าขัดขวางหรือยับยั้งการทำงานของเอนไซม์หลายชนิดหรือส่งผลต่อกิจกรรมเมตาบอไลต์ภายในเซลล์ของเชื้อสาเหตุได้หลายกิจกรรมในเวลาเดียวกัน

การแบ่งกลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชตามการจัดกลุ่มโดยคณะกรรมการติดตามการต้านทานสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช (Fungicides resistance action committee, FRAC)  แก้ไข

โดยองค์กร FRAC ได้จัดกลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชตามคุณสมบัติทางเคมีของสารแต่ละชนิด โดยจัดแบ่งกลุ่มเป็น FRAC 1-46 และ FRAC M รวมทั้งจัดกลุ่มตามกลไกการออกฤทธิ์ (Mode of action) เพื่อใช้ประกอบคำแนะนำในการใช้สารป้องกันการเกิดการต้านทานของเชื้อสาเหตุโรคพืช โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ตามกลไกการออกฤทธิ์ 12 กลุ่มดังนี้

กลุ่ม A สาที่มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก (A: nucleic acid synthesis)

                             กลุ่ม B สารที่มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส และการแบ่งเซลล์ (B: mitosis and cell division)

                             กลุ่ม C สารที่มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการหายใจ (C: respiration)

  1.                              กลุ่ม D สารที่มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์กรดอะมิโน และโปรตีน (D: amino acid and protein synthesis)

                             กลุ่ม E สารที่มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการส่งสัญญาณเข้าสู่เซลล์ (E: signal transduction)

                             กลุ่ม F สารมีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ไขมันและส่งผลต่อความสมบูรณ์ของเยื่อหุ้มเซลล์ (F: lipid synthesis and membrane integrity)

                             กลุ่ม G สารมีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการชีวสังเคราะห์สเตอรอลในเยื่อหุ้มเซลล์ต่างๆ (G: sterol biosynthesis in membranes)

                             กลุ่ม H สารมีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการชีวสังเคราะห์ผนังเซลล์ (H: cell wall biosynthesis)

                             กลุ่ม I สารมีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์เมลานินในผนังเซลล์ (I: melanin synthesis in cell wall)

                             กลุ่ม P สารที่มีคุณสมบัติชักนำให้เกิดความต้านทาน (P: host plant defense induction)

                             กลุ่ม U สารที่ไม่สามารถจำแนกกลุ่มได้ (U: unknown mode of action)

                             กลุ่ม M สารมีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งในเซลล์เชื้อสาเหตุโรคพืชหลายตำแหน่ง (M: multi-site contact activity)

การแบ่งกลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชตามประเภทของสารเคมีแก้ไข

เป็นการจัดแบ่งตามชนิดหรือคุณสมบัติทางเคมีของสาร โดยสารแต่ละชนิดจะมีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดเชื้อสาเหตุโรคพืชเหมือนหรือไม่เหมือนกันก็ได้ ปัจจุบันมีการแบ่งสารนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. สารประกอบอนินทรีย์
  2. สารประกอบอินทรีย์
  3. สารประกอบอินทรีย์ประเภทดูดซึม
  4. สารปฏิชีวนะ (ธิดา, 2559)[1]

อ้างอิงแก้ไข

  1. ธิดา เดชฮวบ.  2559. สารเคมีที่ใช้ในการป้องกันกำจัดโรคพืช. พิมพ์ที่ บริษัท เอเชีย ดิจิตอล การพิมพ์,    กรุงเทพฯ.