พันธุ์ระยอง 72 เป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำส่งเสริม เมื่อ พ.ศ. 2542 เกิดจากการผสมระหว่างระยอง 1 กับพันธุ์ระยอง 5 อย่างไรก็ตาม พันธุ์นี้มีข้อจำกัดที่ปริมาณแป้งในหัวที่ไม่สูงมากนัก ทางราชการแนะนำให้ปลูกเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ส่งเสริมให้ปลูกในภาคตะวันออก มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 72 มีลักษณะเด่นคือ ท่อนพันธุ์งอกดี เจริญเติบโตได้เร็ว คลุมวัชพืชได้ดี ทรงต้นสูงใหญ่ตั้งตรง ตัดต้นสะดวก การตัดเหง้าทำได้สะดวก ลักษณะพันธุ์เป็นที่ต้องการของเกษตรกร แต่พันธุ์นี้มีข้อจำกัดคือ หัวสดมีแป้งปานกลาง ไม่เหมาะสมกับการทำมันเส้น แต่หากใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานแป้งไม่มีปัญหา พันธุ์นี้เหมาะสำหรับดินร่วนปนทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เก็บเกี่ยวในฤดูแล้งและอยู่ไม่เกิน 1 ปี[1]
ลักษณะประจำพันธุ์[2][3]
ลักษณะ | มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 90 |
สียอดอ่อน | สีม่วง |
การมีขนที่ยอดอ่อน | ไม่มีขน |
สีก้านใบ | สีแดงเข้ม |
ลักษณะใบ | ใบหอก |
ลักษณะหูใบ | โคนหูใบมีสีแดงเข้มและค่อยๆ เรื่อลงจนถึงกลางหูใบ ปลายหูใบงอนขึ้นคล้ายขนตา |
ลักษณะทรงต้น/ระดับการแตกกิ่ง | ลำต้นตรง แตกกิ่งสูง 0 – 1 ระดับ |
สีลำต้น | สีเขียวเงิน |
สีของเปลือกหัว | สีขาวนวล |
ลักษณะหัว | กรวยแกมกระบอก มีขั้ว |
สีเนื้อหัว | สีขาว |
ลักษณะเด่น | ให้ผลผลิตหัวสดสูง ต้นพันธุ์คุณภาพดี ทนแล้ง |
ข้อจำกัด | ปริมาณแป้งต่ำเมื่อปลูกในภาคตะวันออก และค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคใบไหม้ |
เปอร์เซ็นต์แป้งในฤดูฝน (%) | 20 – 22 |
เปอร์เซ็นต์แป้งในฤดูแล้ง (%) | 24 |
ผลผลิตหัวสด (ตัน/ไร่) | 5.1 |
อ้างอิง
- ↑ มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2564. จาก https://www.tapiocathai.org/pdf/Tapioca%20Plan/e_tapioca%20varieties.pdf
- ↑ กรมวิชาการเกษตร. 2552. การจำแนกพันธุ์มันสำปะหลัง. โรงพิมพ์สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ.
- ↑ กรมส่งเสริมการเกษตร. 2558. คู่มือการจำแนกพันธุ์มันสำปะหลัง. บริษัท ซัน แพคเกจจิ้ง (2014) จำกัด