เป็นลูกผสมปี พ.ศ. 2535 ได้จากการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์ที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ CMR 31-19-23 เป็นแม่ และ OMR 29-20-118 เป็นพ่อ ผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง และประเมินศักยภาพของพันธุ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งสิ้น 38 แปลง ทดลองระหว่างปี พ.ศ. 2535 – 2542 พบว่าสายพันธุ์ระยอง 9 ให้ผลผลิตแป้งและผลผลิตมันแห้งสูง ในปี พ.ศ. 2544 – 2547 ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองจึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการประเมินผลผลิตเอทานอลจากสายพันธุ์ระยอง 9 พบว่า สายพันธุ์ระยอง 9 เหมาะสําหรับอุตสาหกรรมเอทานอลและผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ได้แก่ แป้งมัน มันเส้น และมันอัดเม็ด[1]

ลักษณะประจำพันธุ์[2]

ลักษณะ มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9
สียอดอ่อน สีเขียว
การมีขนที่ยอดอ่อน ไม่มีขน
สีก้านใบ สีเขียวอ่อนอมชมพู
ลักษณะใบ ใบหอก
ลักษณะหูใบ หูใบสีเขียว ปลายยาวงอน
ลักษณะทรงต้น/ระดับการแตกกิ่ง ลำต้นตรง แตกกิ่งสูง กิ่งทำมุมแคบ 0 – 1 ระดับ
สีลำต้น สีน้ำตาลอมเหลือง
สีของเปลือกหัว สีน้ำตาลอ่อน
ลักษณะหัว เรียวยาว
สีเนื้อหัว สีขาว
ลักษณะเด่น ลำต้นสูงตรง แข็งแรง ผลผลิตสูง ปริมาณแป้งสูง
ข้อจำกัด ไม่ต้านทานไรแดง ไม่เหมาะสำหรับดินร่วนเหนียวและดินลูกรัง ไม่เหมาะกับการเก็บเกี่ยวต่ำกว่า 12 เดือน
เปอร์เซ็นต์แป้งในฤดูฝน (%) 25.8
เปอร์เซ็นต์แป้งในฤดูแล้ง (%) 42.8
ผลผลิตหัวสด (ตัน/ไร่) 4.77

อ้างอิง

  1. ศูนย์วิจัยมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2564. จาก http://web.sut.ac.th/cassava/UserFiles/File/plant.pdf
  2. กรมวิชาการเกษตร. 2552. การจำแนกพันธุ์มันสำปะหลัง. โรงพิมพ์สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ.