มันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกดูแลรักษาง่าย มีศัตรูธรรมชาติน้อย ดังนั้นราคาของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจึงต่ำกว่าธัญพืช และยังเหมาะที่จะใช้เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตสำหรับการนำมาผสมกับหัวอาหารเป็นอาหารสัตว์ เช่น สุกร ไก่ ปลา และปศุสัตว์ แต่ยังต้องเพิ่มวิตามิน เกลือแร่ และกรดอะมิโนบางตัว เช่น เลี้ยงไก่ต้องเสริมสารอาหารและสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระเพิ่มเติม ในปัจจุบันทั่วโลกนิยมนำมันสำปะหลังมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้นเนื่องจากราคาต่ำกว่าธัญพืช
ประเทศไทยส่งมันสำปะหลังออกขายในรูปอัดเม็ดและมันเส้น ในปริมาณกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ส่งออกทั้งหมด ตลาดที่สำคัญของไทยคือประชาคมเศษฐกิจยุโรป ส่วนแป้งส่งขายให้ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตามเรามักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าและกฎเกณฑ์การนำเข้ามันสำปะหลังในรูปอาหารสัตว์ในประชาคมเศษฐกิจยุโรป ซึ่งทำให้มันสำปะหลังจากไร่เกษตรกรมีราคาต่ำและแปรปรวนมาก จึงควรนำมันสำปะหลังไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าหัวมันสำปะหลังให้สูงขึ้น[1]
คุณค่าทางโภชนาการของมันเส้นหรือมันอัดเม็ด[2]แก้ไข
มันเส้นหรือมันอัดเม็ดจัดเป็นวัตถุดิบประเภทแป้ง เช่นเดียวกับข้าวโพด และปลายข้าว แต่มันเส้นหรือมันอัดเม็ดมีปริมาณโปรตีนที่ต่ำกว่า การแก้ปัญหาโปรตีนต่ำในมันเส้นหรือมันอัดเม็ดสามารถทำได้โดยการเพิ่มวัตถุดิบอาหารโปรตีนสูง เช่น กากถั่วเหลืองในสูตรอาหารให้สูงขึ้น ก็จะช่วยให้มันเส้นหรือมันอัดเม็ดมีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับข้าวโพดหรือปลายข้าว และสามารถทดแทนข้าวโพดหรือปลายข้าวในสูตรอาหารเลี้ยงสัตว์ได้
การใช้ใบมันสำปะหลังแห้งในสูตรอาหารสัตว์[3]แก้ไข
แม้ว่าใบมันสำปะหลังจะมีสารพิษสำคัญ 2 ชนิด คือกรดไฮโดรไซยานิคและสารแทนนิน แต่ในใบมันแห้งจะมี เหลืออยู่ในระดับต่ำมาก เช่นเดียวกับในมันเส้นที่กรดไฮโดรไซยานิคระเหยออกไประหว่างผึ่งแดด จนเหลือในระดับที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับสัตว์ นอกจากนี้กรดไฮโดรไซยานิคในระดับต่ำดังกล่าวนี้กลับช่วยกระตุ้นให้เกิดระบบที่ทำให้สัตว์มีความต้านทานโรคเพิ่มขึ้นอีกด้วย
มีขั้นตอนดังต่อไปนีh
- เก็บใบมันสำปะหลัง ซึ่งควรเก็บใบมันสำปะหลังจากต้นก่อนทำการเก็บเกี่ยวหัวมัน เนื่องจากการเก็บใบมันสำปะหลังหลังการเกี่ยวแล้วนั้นอาจทำได้ไม่สะดวก และไม่สามารถเก็บใบมันสำปะหลังในแปลงได้หมด อย่างไรก็ตามควรเก็บใบมันก่อนการขุดหัวมันไม่เกิน 12– 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันสำปะหลั'
- การเก็บใบมันนั้นควรเด็ดจากส่วนยอดบริเวณที่มีสีเขียวยาวลงมาประมาณ 20 เซนติเมตร ส่วนที่เหลือเด็ดเฉพาะใบกับก้านใบเท่านั้น และไม่ควรเก็บส่วนของลำต้นติดมาด้วย เนื่องจากจะทำให้ใบมันสำปะหลังที่ได้มีคุณภาพต่ำ กล่าวคือโปรตีนต่ำ เยื่อใยสูง และส่วนก้านกับลำต้นยังทำให้แห้งได้ช้าอีกด้วย
- เมื่อเก็บใบมันมาแล้วควรตากหรือผึ่งแดดให้เร็วที่สุด เนื่องจากการเก็บไว้ในกระสอบหรือกองไว้ ทำให้เกิดความร้อนขึ้น ส่งผลให้ใบมันสำปะหลังมีลักษณะตายนึ่ง ใบมันสำปะหลังที่ได้เป็นสีน้ำตาล ไม่เป็นสีเขียว ทั้งยังทำให้มีการสูญเสียวิตามินเอและสารสีในใบมันไปด้วย
- นำใบมันสำปะหลังที่เก็บได้มาตากหรือผึ่งแดดให้แห้ง โดยอาจสับเป็นชิ้น ซึ่งจะทำให้ตากแห้งเร็วขึ้น ระหว่างการตาก ควรกลับใบมันสำปะหลังไปมาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ส่วนใบและก้านแห้งได้ทั่วถึง โดยตากหรือผึ่งแดด นาน 2 – 3 แดด ซึ่งใบมันแห้งที่ได้นี้สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบอาหารโค – กระบือได้ทันที ส่วนในสัตว์กระเพาะเดี่ยวพวกสุกรและสัตว์ปีกต้องนำไปบดให้ละเอียดก่อนนำไปใช้ผสมกับวัตถุดิบชนิดอื่น
ข้อแนะนำการใช้ ในสูตรอาหารสุกรรุ่น-ขุน และแม่พันธุ์ ให่ใช้ในระดับไม่เกิน 10-15 เปอร์เซ็นต์ อาหารสัตว์ปีกไม่เกิน 5-7 เปอร์เซ็นต์ อาหารผสมรวม (TMR) สำหรับโค-กระบือ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับที่จะไม่มีปัญหาจากสารพิษทั้งสองชนิดดังกล่าวข้างต้น
คุณค่าทางโภชนาการของใบมันสำปะหลังแห้ง[3]แก้ไข
คุณค่าทางโภชนาการของใบมันสำปะหลังจะผันแปรตามปริมาณส่วนใบกับก้านและลำต้นที่ติดมา ถ้ามีส่วนใบมากโปรตีนก็จะสูง ถึง 19.69 เปอร์เซ็นต์ ความชื้น 8.76 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 3.68 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย 22.78 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 8.56 เปอร์เซ็นต์ แคลเซี่ยม 1.69 เปอร์เซ็นต์ และฟอสฟอรัส 0.20 เปอร์เซ็นต์ พลังงานใช้ประโยชน์ได้ในสุกร 2,868 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม ในสัตว์ปีก 2,628 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม ส่วนปริมาณแทนนินที่มีอยู่ในระดับต่ำ 14.79 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ก็มีประโยชน์สามารถควบคุมพยาธิในตัวสัตว์ได้ด้วยนอกจากนี้ใบมันสำปะหลังแห้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งของวิตามินเอ (แคโรทีน)
การใช้กากมันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์[4]แก้ไข
กากมันสำปะหลังที่เหลือจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังยังมีคุณค่าทางโภชนาการหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะแป้งซึ่งสำมารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ จึงมีการศึกษานำกากมันสำปะหลังไปใช้ในสูตรอาหารสัตว์ เช่น ใช้ผสมในอาหารไก่เนื้อ ทั้งนี้ในสูตรอาหารสัตว์ปีกมีการใช้มันสำปะหลังและส่วนเหลือทิ้งได้หลายรูปแบบ เช่น มันเส้นมันอัดเม็ด มันสำปะหลังป่น แป้งมัน และกากมันสำปะหลัง
จากการรวบรวมเอกสารพบว่ามีการใช้กากมันสำปะหลังในอาหารไก่เนื้อที่ระดับ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่มีผลกระทบต่อสมรรถนะการผลิต[5] [6] [7]แต่การใช้กากมันสำปะหลังในระดับที่สูงเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อระบบการย่อยของไก่ได้ เนื่องจากปริมาณเยื่อใยที่สูง และอาจส่งผลให้ค่าความหนาแน่นของอาหารลดลง อาหารไหลผ่านในทางเดินอาหารได้เร็วอาจส่งผลกระทบต่อการกินอาหาร และอัตราการให้ผลผลิตไข่ของไก่ไข่ได้[6]
ตาราง คุณค่าทางโภชนาการของมันสำปะหลังเปรียบเทียบกับพืชอื่น ๆ
ส่วนประกอบทางเคมีของวัสดุเกษตรจำพวกแป้ง (% น้ำหนักแห้ง) | ||||||
วัตถุดิบ | ความชื้น | โปรตีน | ไขมัน | เยื่อใย | คาร์โบไฮเดรท | แป้ง |
มันสำปะหลัง | 66 | 1 | 0.3 | 1 | 26 | 77 |
ข้าวโพด | 16 | 9 | 4 | 2 | 60 | 71 |
มันฝรั่ง | 78 | 2 | 0.1 | 0.7 | 18 | 82 |
ข้าวสาลี | 14 | 13 | 2 | 3 | 64 | 74 |
ข้าวฟ่าง | 16 | 9 | 3 | 2 | 63 | 75 |
ข้าว | 12 | 8 | 0.5 | - | 78 | 89 |
มันเทศ | 68 | 1.5 | 0.3 | - | 23 | 72 |
(อรพิน, 2533)[8]
- ↑ สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน. ม.ป.ป.. มันสำปะหลัง.เอกสารวิชาการฉบับที่ 1001- Do 46.01. กรมพัฒนาที่ดิน. กรุงเทพฯ.: 97 หน้า.
- ↑ อุทัย และคณะ (2540)http://nutrition.dld.go.th/Nutrition_Knowlage/ARTICLE/new_article/cassava2.htm
- ↑ 3.0 3.1 สุกัญญา จัตตุพรพงษ์ และ วราพันธุ์ จินตณวิชญ์. ม.ป.ป.. ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาวิชาการอาหารสัตว์ สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ ฯ. http://www3.rdi.ku.ac.th/exhibition/51/Trade/trade_05-01/trade_05_1.htm. 11/03/2564.
- ↑ ลัดดาวัลย์ หอกกิ่ง. 2556. ผลของการใช้กากามันสำปะหลังต่อการย่อยได้ของโภชนะ สมรรถนะ การผลิตคุณภาพไข่ คอเลสเตอรอลในไข่แดง และการเปลี่ยนแปลงประชาการจุลินทรีย์ของไก่ไข่. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์. 111 หน้า.
- ↑ ยุวเรศ เรืองพานิช, อรประพันธ์ ส่งเสริม, สุกัญญา รัตนทับทิมทอง, ณัฐชนก อมรเทวภัทร, สุชาติ สงวนพันธุ์, อรทัย ไตรวุฒานนท์ และอรรถวุฒิ พลายบุญ. 2550. การใช้ประโยชน์ของกากมันสำปะหลังในการนำมาเป็นอาหารสัตว์ปีก.รายงานการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
- ↑ 6.0 6.1 ปรีดา คำศรี, ยุวเรศ เรืองพานิช, เสกสม อาตมางกูร, อรประพันธ์ ส่งเสริม และณัฐชนก อมรเทวภัทร. 2552. ผลของระดับกากมันสำปะหลังและรูปแบบอาหารต่อสมรรถภาพการผลิตในไก่เนื้อ. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 47. สาขาสัตวศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. หน้า 132 – 140.
- ↑ Khempaka, S., Molee, W., and Guillaume, M. 2009. Dried cassava pulp as an alternative feedstuff for broilers: effect on growth performance, carcass traits, digestive organs, and nutrient digestibility. J. Poult. Sci. Res. 18: 487 – 493.
- ↑ อรพิน ภูมิภมร, เทคโนโลยีของแป้ง. 2533. เคมีของแป้งและเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์จากแป้งบางชนิดที่ผลิตในประเทศไทย. ระบบชีวภาพที่สำคัญต่อเทคโนโลยีชีวภาพ. เล่มที่ 5. 212 หน้า