การปรับปรุงสมบัติทางฟิสิกส์ของดิน
การปรับปรุงสมบัติของดินมีควาสำคัญต่อการผลิตมันสำปะหลังเป็นอย่างมาก เนื่องจากดินในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่มักเสื่อมโทรมเพราะว่ามีการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่เดิมซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่องโดยไม่พักดินและยังขาดการบำรุงดินที่เหมาะสม นอกจากนี้การใช้เครื่องจักรกลหนักในการเตรียมดินก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดินเสื่อมโทรม ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมดินและการเขตกรรมที่เหมาะสม ซึ่งปัญหาที่มักพบในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมี ดังนี้ - ชั้นดานไถพรวน การอัดตัวแน่นของดินเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญต่อการปลูกมันสำปะหลัง ที่มีสาเหตุมากจากการไถพรวนพื้นที่อย่างต่อเนื่องปีละหลาย ๆ ครั้ง เช่น การไถเตรียมดินก่อนการปลูกมันสำปะหลัง การไถเพื่อการยกร่อง หรือการไถเพื่อกำจัดวัชพืช ส่งผลให้เกิดชั้นดานไถพรวนขึ้นทำให้มีสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของของมันสำปะหลัง โดยทั่วไปมักพบที่ความลึกประมาณ 30-40 เซนติเมตร ซึ่งสามารถสังเกตได้จากเมื่อฝนตกใหม่ ๆ จะมีน้ำท่วมขังบริเวณผิวดิน ทำให้จำกัดการไหลซึมผ่านของน้ำและอากาศไปยังราก ส่งผลให้มันสำปะหลังมีขนาดหัวที่เล็ก และทำให้หัวมันสำปะหลังเน่าในช่วงฤดูฝน วิธีการแก้ปัญหา 1. ไถระเบิดชั้นดานทำได้โดยการไถด้วยไถที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถเจาะและทำให้ดินชั้นดานแตกกระจายได้ คือ ไถลึก (deep plowing) หรือไถทำลายดินดาน (subsoiling) ควรไถที่ระดับความลึกประมาณ 75 เซนติเมตร โดยระยะห่างรอยละ 50 เซนติเมตร การไถตัดดานจะให้ผลเต็มที่ก็ต่อเมื่อทำการไถขณะที่ดินมีชั้นดานค่อนข้างแห้ง ซึ่งจะทำให้ชั้นดานถูกทำลายโดยการเกิดรอยแตกแยกได้ง่าย 2. ใส่วัสดุปรับปรุงดินเพื่อทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้นไม่เกิดการอัดตัวแน่นได้ง่าย และรวมทั้งการป้องกันการสลายตัวของเม็ดดินที่มีอยู่แล้ว เช่น การใส่หินปูนบด หรือยิปซัม ฟอสโฟยิปซัมอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ หรือการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในรูปปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก เช่น มูลไก่แกลบ หรือแกลบดิบในอัตรา 1 ตันต่อไร่ โดยไถกลบวัสดุปรับปรุงดินเหล่านี้ให้ลึกกว่าปกติ 3. ปลูกพืชทำลายชั้นดาน พืชหลายชนิดมีระบบรากที่แข็งแรง สามารถเติบโตไชชอนผ่านชั้นดานที่พืชทั่วไปไม่สามารถทำได้ พืชเหล่านี้ได้แก่ หญ้าบาเฮีย (bahiagrass) หญ้าแฝก (vetiver Grass) 4. ควบคุมความชื้นดิน ชั้นดานในดินล่างจะแข็งจนกระทั่งเป็นอุปสรรคต่อการแพร่กระจายของรากพืชก็ต่อเมื่อแห้งถึงระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อมีความชื้นพอเหมาะรากพืชทั่วไปก็สามารถไชชอนเข้าไปในชั้นดานได้มากขึ้น ดังนั้น การรักษาความชื้นในดินชั้นดานให้พอเหมาะจึงสามารถลดผลกระทบของชั้นดานต่อการแพร่กระจายของรากพืชได้ระดับหนึ่ง การควบคุมความชื้นให้พอเหมาะนี้กระทำได้เฉพาะในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานที่ดีเท่านั้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้ปัญหาที่พืชจะขาดแคลนน้ำ โดยเหตุที่รากพืชถูกจำกัดด้วยชั้นดานก็มีปัญหาอยู่แล้ว การส่งเสริมให้รากพืชแพร่กระจายลงในชั้นดานโดยการควบคุมความชื้นของชั้นดานให้เหมาะสมจึงเป็นการส่งเสริมให้พืชได้ใช้ประโยชน์จากธาตุอาหารพืชในดินชั้นดานและใต้ดาน - ดินมีความจุในการกักเก็บธาตุอาหารและความชื้นต่ำ พบมากในกลุ่มดินเนื้อหยาบ ได้แก่ ดินทราย ดินทรายปนดินร่วน ดินร่วนปนทราย และดินที่มีการปลูกมันสำปะหลังต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือดินที่มีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำ ทำให้ความสามารถในการดูดซับธาตุอาหารและแลกเปลี่ยนธาตุอาหารต่ำมาก เมื่อมีการใส่ปุ๋ยเคมีลงไปทำให้เกิดการสูญเสียไปจากดินได้ง่าย ทำให้การตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมีน้อย นอกจากนี้ดินทรายยังมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ และเก็บน้ำไว้ไม่อยู่ง่ายต่อการขาดแคลนความชื้น ทำให้การเจริญเติบโตไม่ดีและให้ผลผลิตน้อยกว่าดินปกติ วิธีการแก้ปัญหา 1. ควรไถกลบตอซังและวัชพืชทุกครั้ง การปรับปรุงดินทำได้โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์จำพวกปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก เช่น มูลไก่แกลบ เพื่อหวังผลในระยะยาวอย่างยั่งยืน 2. การปรับปรุงดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปลูกพืชตระกูลถั่ว แล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด เพื่อเพิ่มความสามารถในการดูดซับธาตุอาหารพืชและความสามารถในการอุ้มน้ำแก่ดินปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินทำให้ดินมีการเกาะยึดตัวดีขึ้น 3. การอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมปลูกพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การใช้วัสดุคลุมดินเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำและรักษาความชื้นไว้ในดิน 4. การจัดการน้ำที่เหมาะสมเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เช่น การให้น้ำแบบหยด เป็นต้น หรือขุดสระเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงที่พืชขาดน้ำ 5. การใช้ปุ๋ยเคมีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมากและมีปริมาณธาตุอาหารพืชไม่เพียงพอ ควรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยตามความเหมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมีที่ละลายช้าแบ่งใส่ครั้งละน้อยๆ เป็นระยะใส่ในขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสมและควรใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์หรือใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน