การทำแปลงขยายพันธุ์

จาก Cassava
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ต้นพันธุ์มันสำปะหลังคิดเป็นส่วนของต้นทุนประมาณ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด การลงทุนปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ขนาดใหญ่หากต้องพึ่งพาต้นพันธุ์จากแหล่งอื่นทุกปีจัดว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากราคาต้นพันธุ์จะผันแปรตลอดเวลาในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการของเกษตรกรและสภาพอากาศในปีนั้นๆ อีกทั้งไม่สามารถควบคุมคุณภาพต้นพันธุ์ที่จัดซื้อมาได้  ส่งผลต่อผลผลิตมันสำปะหลังในที่สุด แต่เนื่องจากมันสำปะหลังสามารถขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ปลูก ดังนั้นจึงสามารถปลูกขยายต้นพันธุ์ไว้ใช้เองในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ผลผลิตแต่ละพื้นที่จึงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน และคุณลักษณะของดินที่ปลูกเป็นสำคัญ อีกทั้งการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ทำให้ต้องมีการจัดทำแปลงขยายท่อนพันธุ์สะอาด เพื่อกระจายพันธุ์ดีในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อรักษาระดับการให้ผลผลิตมันสำปะหลังให้เพียงพอต่อความต้องการ จำหน่าย หรือแจกจ่ายเกษตรกรลูกไร่ และลดการระบาดของเพลี้ยแป้ง มีหลักในการพิจารณาและปฏิบัติ ดังนี้

สภาพพื้นที่และดิน

สภาพพื้นที่เหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลังควรเป็นพื้นที่ที่ระบายน้ำได้ดีไม่เป็นที่ลุ่ม หรือมีน้ำท่วมขัง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,000 เมตร พื้นที่ราบสม่ำเสมอ มีความลาดเอียงไม่เกิน 5 เปอร์เซนต์ ลักษณะดินเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินทราย ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง อินทรียวัตถุไม่ต่ำกว่า 1.0 มันสำปะหลังปรับตัวได้ดีในสภาพดินเลว ทนทานต่อดินที่มี pH ต่ำ ฟอสฟอรัสต่ำ อย่างไรก็ตามดินที่เหมาะสมสำหรับปลูกมันสำปะหลัง คือ ดินที่มีเนื้อค่อนข้างหยาบ ตั้งแต่ดินร่วนปนทรายถึงดินร่วนเหนียวปนทราย เพราะมีเปอร์เซ็นต์การระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศดี ระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง 5.5 – 7.5 ปริมาณน้ำฝนกระจายสม่ำเสมอ 1,000 – 1,500 มิลลิเมตรต่อปีมีแสงแดดจัด

อุณหภูมิ

อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตคือ 25 – 37 องศาเซลเซียส ซึ่งมีผลกระทบต่อการงอกของท่อนพันธุ์ปลูก ขนาดใบ การสร้างใบ การสร้างหัวสะสมอาหาร และการเจริญเติบโตทั่วไปในสภาพที่อุณหภูมิต่ำที่ 16 องศาเซลเซียส มีผลต่อการแตกใบและการงอกรากจากท่อนปลูก อัตราการสร้างใบ การสร้างน้ำหนักแห้งทั้งต้น และการสะสมน้ำหนักแห้งของหัวลดลง การแตกใบและการงอกรากจากท่อนปลูกได้ดีเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจนถึง 30 องศาเซลเซียส และถูกยับยั้งเมื่ออุณหภูมิสูงถึง 37 องศาเซลเซียส

การเตรียมดิน

แปลงขยายพันธุ์ควรเป็นแปลงที่มีระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินปานกลางถึงสูง มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน ควรหลีกเลี่ยงปลูกในดินที่ชื้นแฉะ เพราะหัวมันสำปะหลังจะเน่าเสียได้ง่ายและมีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิคสูง การเตรียมดินควรไถ 2 ครั้ง โดยผาน 3 และผาน 7 ควรไถให้ลึกประมาณ 8 – 12 นิ้ว โดยไถกลบเศษเหลือของพืช เช่น ลําต้น เหง้า ใบ และยอดของมันสําปะหลังที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว ไม่ควรเผาหรือเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพราะการเผาทิ้งหรือขนย้ายไปทิ้งจะทําให้ธาตุอาหารสญหายไปเป็นจํานวนมาก สำหรับพื้นที่ปลูกที่ลาดเอียง เพื่อลดการสูญเสียหน้าดิน และพื้นที่ปลูกที่มีน้ำท่วมขัง ควรทำร่องระบายน้ำและยกร่องปลูก การเตรียมดินสำหรับปลูกมันสำปะหลังทำได้ ดังนี้

  • การไม่ไถพรวนดิน จะมีการยกร่องหรือไม่ยกร่องก็ได้ เหมาะสำหรับการปลูกมันสำปะหลังปลายฤดูฝนในดินทราย หรือดินทรายปนร่วน เนื่องจากความชื้นในดินมีเพียงพอต่อการงอก
  • การไถพรวนน้อยครั้ง ทำการไถพรวนโดยใช้ผาล 7 เพียงครั้งเดียว ตามด้วยการยกร่อง หรือไม่ยกร่อง แต่ไม่ควรใช้วิธีนี้ติดต่อกันหลายปี เพราะจะทำให้เกิดชั้นดินดานในระดับดินล่างตื้น
  • การไถพรวนมากกว่า 1 ครั้ง ทำการไถพลิกฟื้นดินโดยใช้ผาล 3 และพรวนดินโดยใช้ผาล 7 เพียงครั้งเดียว หรือ 2 ครั้งขึ้นอยู่กับสภาพของดิน ตามด้วยการยกร่องหรือไม่ยกร่อง การไถพรวนบ่อยครั้งเกินไป ทำให้ดินสูญเสียธาตุอาหารได้เร็ว เนื่องจากจะไปช่วยเร่งให้ขบวนการย่อยสลายเกิดขึ้นเร็วขึ้น และทำให้เกิดการสูญเสียน้ำในดิน (เอกสารวิชาการเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง, 2551)

หากดินที่ทำการเพาะปลูกมันติดต่อกันหลายปี ควรปรับปรุงดิน เพื่อรักษาระดับผลผลิตในระยะยาว ด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเปลือกมันชนิดเก่าค้างปี (จากโรงแป้งทั่วไป) ที่หาได้ในท้องถิ่น หรือ ปลูกพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ หมุนเวียนบำรุงดิน ในกรณีที่พื้นที่ประเภทหญ้าคา ควรใช้ยาราวด์อัพหากเป็นเครือเถาต่าง ๆ ควรใช้ยาสตาร์เรน ฉีดพ่นยาจำกัดเสียก่อนการไถ จากนั้นไถครั้งแรกโดยไถกลบวัชพืชก่อนปลูกด้วยผาน 3 (ห้ามเผาทำลายวัชพืช) ให้ลึกประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร แล้วทิ้งระยะไว้ประมาณ 20 – 30 วัน เพื่อหมักวัชพืชเป็นปุ๋ยในดินต่อไป ไถพรวนด้วยผาน 7 อีก 1 - 2 ครั้ง ตามความเหมาะสม และรีบปลูกโดยเร็ว ในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่

การทำแปลงขยายพันธุ์แบบปกติ

การปลูกด้วยท่อนพันธุ์

ปลูกมันสำปะหลังด้วยท่อนพันธุ์ที่มีความยาวประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร ระยะปลูก ระยะปลูกมันสำปะหลังสามารถปลูกได้ตั้งแต่ระยะ 60 X 60 เซนติเมตร จนถึง 120 X 120 เซนติเมตร โดยระยะ 100 X 100 เซนติเมตร จะมีแนวโน้มให้ผลผลิตสูงกว่าระยะอื่นๆ แต่ถ้าหากเกษตรกรมีการใช้เครื่องทุ่นแรงระยะปลูกระหว่างแถว X ต้น อาจใช้ 120 X 80 เซนติเมตร เพื่อสะดวกในการใช้เครื่องทุ่นแรง วิธีการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรมี 2 วิธี คือ

1. การปลูกแบบนอน (ปัจจุบันปลูกกันน้อยมาก)

2. การปลูกแบบปัก

การปลูกแบบปักจะให้ผลดีกว่าการปลูกแนวนอน เนื่องจากมันสำปะหลังงอกได้เร็วกว่า สม่ำเสมอกว่า สะดวกต่อการปลูกซ่อม และกำจัดวัชพืช ในฤดูฝน ถ้าพื้นที่แฉะควรยกร่องและปลูกบนสันร่อง ถ้าดินระบายน้ำดีปลูกบนพื้นที่ราบก็ได้ การปักท่อนพันธุ์ตั้งตรงหรือเอียงให้ลึกประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร สำหรับการปลูกในฤดูแล้งไม่จำเป็นต้องยกร่องแต่ควรปักตั้งตรงหรือเอียง ให้ลึกกว่าการปลูกในฤดูฝน 10 – 15 เซนติเมตร จะช่วยให้ท่อนพันธุ์มีความงอกและมีความอยู่รอดสูง ส่วนการปลูกในพื้นที่ที่มีความเอียง ควรปลูกโดยการยกร่องขวางแนวลาดเอียง  

สำหรับมันสำปะหลังพันธุ์ที่ไม่แตกกิ่งอาจเพิ่มจำนวนท่อนพันธุ์ต่อไร่โดยการตัดยอดระดับที่ตัดวัดจากยอดลงมาประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร เมื่อต้นมันสำปะหลังอายุประมาณ 2 – 3 เดือน จะทำให้ต้นพันธุ์เพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 1 เท่าตัว ตัวอย่างเช่น ต้นมันสำปะหลังเดิมที่ปลูกมีจำนวนลำต้นต่อหลุม 2 ลำ หลังจากตัดยอดทั้ง 2 ลำจะมีการแตกยอดใหม่ได้จำนวนลำต้นประมาณ 4 – 5 ลำต่อหลุม ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 แสดงการตัดยอดต้นพันธุ์เมื่ออายุ 2 เดือนเพื่อให้แตกลำเพิ่ม

การทำแปลงขยายต้นพันธุ์แบบเร่งรัด