การวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง
ไปยังการนำทาง
ไปยังการค้นหา
ข้อมูลที่จำเป็นในการพิจารณาศักยภาพพื้นที่ปลูก
มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายและสามารถปลูกได้เกือบทุกภาคของประเทศ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการผลิตมันสำปะหลังในพื้นที่ที่ไม่เคยปลูกมันสำปะหลังมาก่อน คือ ความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะใช้ในการปลูก ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ สภาพพื้นที่ปลูก และแหล่งรับซื้อผลผลิต พื้นที่ปลูกจะส่งผลต่อวิธีการจัดการในแปลงปลูกและผลผลิตของมันสำปะหลัง หากพื้นที่ปลูกและการจัดการไม่เหมาะสมจะทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มศักยภาพ อาจถึงขั้นได้ผลผลิตที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนและส่งผลให้ผู้ปลูกประสบภาวะขาดทุน
เกณฑ์ที่เหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลัง
- สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม มันสำปะหลังเจริญเติบโตได้ดีในภูมิอากาศแบบร้อนชื้นที่มีอุณหภูมิอากาศ 25-35 องศาเซลเซียส แต่ที่เหมาะสมคืออุณหภูมิอากาศ 25-29 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิดินประมาณ 30 องศาเซลเซียส [1] ถ้าอุณภูมิอากาศเฉลี่ยต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส จะมีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิต[2][3] อุณหภูมิอากาศต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส หรือมีหิมะและน้ำค้างแข็ง จะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงักและไม่แนะนำให้ปลูกมันสำปะหลัง[3] [1]นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงเกินไปก็ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช จากการคาดการณ์การเกิดสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ผลผลิตของมันสำปะหลังลดลงถึง 43 เปอร์เซ็นต์ในอนาคต[4] พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังควรมีการกระจายของปริมาณน้ำฝน 1,000-3,000 มิลลิเมตรต่อปี สามารถทนแล้งได้นาน 3-4 เดือนหากเกิดฝนทิ้งช่วงหรือมีปริมาณน้ำฝนต่ำเนื่องจากมันสำปะหลังมีระบบรากลึกซึ่งสามารถดูดซับน้ำใต้ดินมาใช้ได้ รวมทั้งมีกลไกในการทนต่อสภาพแห้งแล้งเป็นเวลานาน เช่น ทิ้งใบและชะลอการเจริญเติบโต[2][1] มันสำปะหลังจึงเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีการกระจายของปริมาณน้ำฝนไม่สม่ำเสมอตลอดปี ถึงแม้ว่ามันสำปะหลังจะเป็นพืชทนแล้งแต่บริเวณที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยกว่า 500-600 มิลลิเมตรต่อปี เช่น เขตทะเลทราย ไม่เหมาะสมต่อการปลูกมันสำปะหลัง[3] นอกจากนี้มันสำปะหลังไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง [5] ดังนั้นในสภาพพื้นที่ที่มีฝนตกชุกสลับกับฤดูแล้งสั้น ๆ เช่น พื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคใต้ของประเทศไทยที่มีฝนตกเป็นระยะเวลานานถึง 8 เดือน จึงไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลัง เพราะอาจทำให้หัวเน่าเสียหายและต้นตายได้[4]
- สภาพพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม มันสำปะหลังสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีในเขตร้อนและกึ่งร้อน ตั้งแต่บริเวณเส้นรุ้งที่ 30 องศาเหนือถึง 30 องศาใต้ แต่มีการปลูกแพร่หลายระหว่าง 15 องศาเหนือ ถึง 15 องศาใต้ เนื่องจากให้ผลผลิตดี [2][3] สำหรับประเทศไทยอยู่ในระหว่างเส้นรุ้งที่ 6-20 องศาเหนือ จึงสามารถปลูกมันสำปะหลังได้ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ซึ่งมีฝนตกชุก มันสำปะหลังสามารถเจริญเติบโตได้ในภูมิประเทศที่เป็นที่ราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,800-2,000 เมตร เช่นเทือกเขาแอนดีส[2][1] สำหรับสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมคือที่ดอนหรือบริเวณที่ราบขั้นบันไดระดับกลาง (Middle terrace) ลักษณะดินเป็นดินร่วนถึงร่วนปนทราย มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ซึ่งจะทำให้มันสำปะหลังลงหัวได้ดีและเก็บเกี่ยวได้ง่าย เช่น พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย นอกจากนี้แปลงปลูก มันสำปะหลังควรเป็นดินที่ไม่มีกรวดหรือดินเค็ม[5] มีค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน (pH) 4.0-8.0 [6] โดยค่า pH ที่เหมาะสมคือ 4.5 ถึง 6.5 [5]ซึ่งมันสำปะหลังสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพดินที่มีความเป็นกรดสูง (ค่า pH ต่ำถึง 4.5) โดยไม่มีผลกระทบต่อผลผลิต แต่ไม่ทนต่อสภาพดินที่เป็นด่างสูง หากค่า pH สูงกว่า 8 จะทำให้การเจริญเติบโตและผลผลิตลดลง [6][7][8]
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 FAO. (2019). The state of food security and nutrition in the world 2019: safeguarding against economic slowdowns and downturns (Vol. 2019). Food & Agriculture Org.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Onwueme, I. C. (1978). The tropical tuber crops: yams, cassava, sweet potato, and cocoyams: John Wiley and sons.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 Cock, J. H. (1985). Cassava: new potential for a neglected crop Westview Pres s Boulder.
- ↑ 4.0 4.1 Boonpradub, S., Ratanasriwong, S., Sarawat, V., Kapetch, P., Ek-un, K., Damrhikhemtrakul, W., . . . Technology. (2009). Impact of global warming on three major field crops production of Thailand (Thai). 14(7), 626-649.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Onwueme, I., & Sinha, T. (1991). Field crop production in tropical Africa: principles and practice: CTA.
- ↑ 6.0 6.1 USDA. (2005). Household Food Security in the United States, 2005. USDA ERS. Economic Report, (11).
- ↑ จารณ์ วิชชุกิจ, เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์, ปิยะวุฒิ พูลสงวน, เอ็จ สโรบล, จำลอง เจียมจำนรรจา, ประภาส ช่างเหล็ก, ปิยะ กิตติภาดากุล, นิพนธ์ ทวีชัย, กล้าณรงค์ ศรีรอต และ เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ. 2547. แนะนำพันธุ์มันสำปะหลัง MKU(Boonpradub et al., 2009; Cock, 1982; I. Onwueme & Sinha, 1991; I. C. Onwueme, 1978)C34-114-206 (ห้วยบง 60). ใน รายงานคณะกรรมการบริหารสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. น. 64-66. นคราชสีมา: [ม.ป.ท.]
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2556) เทคโนโลยี 52 สัปดาห์ มันสำปะหลัง. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:กรุงเทพฯ.