ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การเตรียมดิน"

จาก Cassava
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
(สร้างหน้าด้วย "== '''การเตรียมดินที่เหมาะสมกับฤดูปลูก''' == === '''ฤดูต้นฝน''' === ก...")
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 04:42, 19 พฤศจิกายน 2564

การเตรียมดินที่เหมาะสมกับฤดูปลูก

ฤดูต้นฝน

การเตรียมดินสำหรับการปลูกมันสำปะหลังในช่วงต้นฤดูฝนควรไถทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่ การการไถดะในครั้งที่ 1 ไถพรวนหรือไถแปรในครั้งที่ 2 และไถเพื่อยกร่องในครั้งที่ 3

สำหรับการการไถดะเป็นการการไถพลิกหน้าดินครั้งแรกเพื่อกำจัดวัชพืช และตากดินให้แห้งโดยการใช้ผาล 3 หรือผาล 4 โดยไถลึกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร แล้วทิ้งไว้ 7-14 วันเพื่อให้ซากพืชย่อยสลายและตากดินส่วนที่ไถขึ้นมา ควรไถดินในขณะที่มีความชื้นพอเหมาะไม่แฉะหรือแห้งเกินไป หากไถขณะที่ดินแฉะจะทำให้ดินจับตัวกันเป็นก้อนใหญ่ และเมื่อดินแห้งจะย่อยให้ละเอียดด้วยผาลพรวนได้ยาก หรือถ้าไถในขณะที่ดินแห้งเกินไปจะทำให้ไถได้ไม่ลึก ซึ่งจะพบปัญหานี้ในกลุ่มดินเนื้อละเอียด เช่น ดินเหนียว มากกว่าดินเนื้อหยาบและดินเนื้อปานกลาง

ส่วนการไถพรวนหรือไถแปรเป็นการไถครั้งที่ 2 เพื่อย่อยและคลุกเคล้า ดิน วัชพืช ฯลฯ ให้ลงไปในดิน โดยจะใช้จำนวนผาลมากขึ้น เช่น ผาล 6  ผาล 7 หรือผาลพรวนชนิดอื่น ๆ ควรทำขณะที่ดินไม่แฉะหรือแห้งเกินไป สามารถทำได้ในวันเดียวกับวันยกร่องปลูก แต่ไม่ควรเกิน 2-3 วัน เนื่องจากถ้ามีฝนตกหนักจะทำให้ยกร่องได้ยาก และวัชพืชอาจขึ้นอีกและอาจต้องมีการไถพรวนซ้ำได้

และการไถยกร่อง เป็นการจัดการพื้นที่ปลูกเพื่อให้สะดวกต่อการปลูกและช่วยระบายน้ำฝนเมื่อพื้นที่ปลูกมีฝนตกหนักเกินไป ควรยกร่องให้มีขนาดที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไป ซึ่งขนาดที่เหมาะสดต่อการปลูกมันสำปะหลังที่สุดคือ ความสูงของร่องประมาณ 25-30 เซนติเมตร และความกว้างของฐานร่องประมาณ 90-100 เซนติเมตร และการยกร่องควรยกร่อนขวางทิศทางลาดชันจะทำให้ลดการกร่อนของดิน

ฤดูปลายฝน

การเตรียมดินสำหรับการปลูกมันสำปะหลังในช่วงปลายฤดูฝนควรไถทั้งหมด 2 ครั้ง ได้แก่ การการไถดะในครั้งที่ 1 ไถพรวนหรือไถแปรในครั้งที่ 2

การไถดะการเตรียมดินสำหรับปลูกมันสำปะหลังในช่วงปลายฤดูฝนจะใช้ผาล 3 ไถ ขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสม หากกินมีความชื้นมากเกินไปจะทำให้รถไม่สามารถเข้าไถให้พื้นที่ได้ การไถในรอบนี้จะเป็นการไถที่ช่วยเก็บกัดความชื้นไว้ในดินเพื่อรอการไถครั้งต่อไป

ส่วนการไถพรวนหรือไถแปร ควรทำเมื่อพร้อมปลูกโดยปกติควรทำหลังการไถดะประมาณ 5-10 วัน หากเป็นดินร่วนทรายหรือดินทราย หลังจากการไถครั้งนี้สามารถปลูกได้เลยโดยปลูกแบบพื้นราบ ใช้วิธีขึงเชือกปลูก โดยไม่จำเป็นต้องยกร่องเพื่อประหยัดต้นทุนการเตรียมดิน

การเตรียมดินตามชนิดเนื้อดิน

การจำแนกชนิดดินอย่างง่าย

การจำแนกเนื้อดิน เป็นการจำแนกองค์ประกอบเชิงกายภาพของดิน เนื่องจากดินในแต่ละสถานที่มีลักษณะแตกต่างกัน จำเป็นต้องเก็บตัวอย่างดินส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบของดินว่าเป็นดินชนิดใด เพื่อจะได้วางแผนและจัดการพื้นที่ปลูกได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม แต่สถาบันวิจัยพืชไร่ (2554) ได้แนะนำวิธีการตรวจสอบชนิดดินอย่างง่ายไว้โดยการปั่นดินเป็นเส้นเพื่อเปรียบเทียบดินชนิดต่าง ๆ ดังตาราง

ตาราง เกณฑ์ในการพิจารณาเนื้อดินในแปลงปลูกอย่างง่าย

ลักษณะดิน ปั้นเป็นเส้นยาว

(ซม.)

เนื้อดิน เทียบเท่าเปอร์เซ็นต์ดินเหนียว (%)
ทรายแยกเป็นเม็ด ปั้นเป็นเส้นไม่ได้ ทราย 0 – 5
ทรายเป็นเม็ดและติดมือ 0.5 – 1.5 ทรายปนร่วน 5 – 15
ทรายเกาะเป็นก้อนบ้าง 1.5 – 2.5 ร่วนปนทราย 10 – 20
นุ่มลื่นมือ แน่น ไม่มีเม็ดทราย 4.0 – 5.0 ร่วนปนเหนียว 25 – 40
เหนียว หนัก ยืดมาก > 7.5 เหนียว > 45

ที่มา: (สถาบันวิจัยพืชไร่, 2554)

การเตรียมดินกลุ่มดินเนื้อละเอียด ที่ประกอบไปด้วย ดินเหนียว ดินเหนียวปนทรายแป้ง ดินเหนียวปนทราย ดินร่วนเหนียว และดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง ในการเตรียมพื้นที่ต้องเตรียมขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสม เนื่องจากความชื้นมีความสำคัญต่อการไถในดินชนิดนนี้ หากมีความชื้นมากเกินไป เช่น หลังฝนตกไม่ควรไถทันทีต้องรอให้ดินมีความชื้นลดลงก่อนจึงจะสามารถถะได้ ส่วนการไถพรวนสามารถทำได้หลังจากไถดะขณะที่มีความชื้นเหมาะสมเช่นกัน เพื่อทำให้ดินมีความร่วนซุย แต่หากไถขณะที่ดินที่แห้งเกินไปจะทำให้ดินแตกละเอียด แต่สามารถไถไว้ก่อนเพื่อรอฝนได้ และเมื่อฝนตกสามารถปลูกได้เลยโดยไม่ต้องยกร่องเป็นการลดค่าใช้จ่ายจากขั้นตอนการยกร่องไปอีกหนึ่งขั้นตอน

การเตรียมดินกลุ่มดินเนื้อปานกลาง ที่ประกอบไปด้วย ดินร่วนเหนียวปนทราย ดินร่วน ดินร่วนปนทรายแป้ง และดินทรายแป้ง ดินชนิดนี้มีสมบัติการระบายน้ำได้ไม่เร็วหรือช้าเกินไปและมีการระบายอากาศได้ดี ดังนั้นในการเตรียมพื้นที่ต้องเตรียมขณะที่มีความชื้เหมาะสมโดยการไถ 2 ครั้ง คือ ไถดะและไถแปร ในการไถดะจะใช้ผาล 3 หรือ ผาล 4 ในการไถ โดยในการไถจะไถให้มีความลึกไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ส่วนการไถครั้งที่ 2 เป็นการไถแปรจะไถหลังจากไถดะได้ทันทีหรือเว้นไว้ไม่เกิน 2-3 วัน และควรทำขณะที่ดินมีความชื้อเหมาะสมเช่นกัน

การเตรียมดินกลุ่มดินเนื้อหยาบ ที่ประกอบไปด้วย ดินทรายร่วน และดินร่วนปนทราย มีคุณสมบัติดีสามารถปลูกสำหรับการปลูกมันสำปะหลังได้ทั้งฤดูต้นฝนและปลายฝน ดังนั้นการเตรียมดินเพื่อปลูกเตรียมดินเหมือนกับการเตรียมดินกลุ่มดินเนื้อปานกลางมีการไถดะและไถแปร แต่ต้องยกร่องก่อนปลูก

การปรับปรุงสมบัติทางฟิสิกส์ของดิน

การปรับปรุงสมบัติของดินมีควาสำคัญต่อการผลิตมันสำปะหลังเป็นอย่างมาก เนื่องจากดินในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่มักเสื่อมโทรมเพราะว่ามีการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่เดิมซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่องโดยไม่พักดินและยังขาดการบำรุงดินที่เหมาะสม นอกจากนี้การใช้เครื่องจักรกลหนักในการเตรียมดินก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดินเสื่อมโทรม ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมดินและการเขตกรรมที่เหมาะสม ซึ่งปัญหาที่มักพบในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมีดังนี้

ชั้นดานไถพรวน

การอัดตัวแน่นของดินเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญต่อการปลูกมันสำปะหลัง ที่มีสาเหตุมากจากการไถพรวนพื้นที่อย่างต่อเนื่องปีละหลาย ๆ ครั้ง เช่น การไถเตรียมดินก่อนการปลูกมันสำปะหลัง การไถเพื่อการยกร่อง หรือการไถเพื่อกำจัดวัชพืช ส่งผลให้เกิดชั้นดานไถพรวนขึ้นทำให้มีสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของของมันสำปะหลัง โดยทั่วไปมักพบที่ความลึกประมาณ 30-40 เซนติเมตร ซึ่งสามารถสังเกตได้จากเมื่อฝนตกใหม่ ๆ จะมีน้ำท่วมขังบริเวณผิวดิน ทำให้จำกัดการไหลซึมผ่านของน้ำและอากาศไปยังราก ส่งผลให้มันสำปะหลังมีขนาดหัวที่เล็ก และทำให้หัวมันสำปะหลังเน่าในช่วงฤดูฝน

วิธีการแก้ปัญหา

  1. ไถระเบิดชั้นดานทำได้โดยการไถด้วยไถที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถเจาะและทำให้ดินชั้นดานแตกกระจายได้ คือ ไถลึก (deep plowing) หรือไถทำลายดินดาน (subsoiling) ควรไถที่ระดับความลึกประมาณ 75 เซนติเมตร โดยระยะห่างรอยละ 50 เซนติเมตร การไถตัดดานจะให้ผลเต็มที่ก็ต่อเมื่อทำการไถขณะที่ดินมีชั้นดานค่อนข้างแห้ง ซึ่งจะทำให้ชั้นดานถูกทำลายโดยการเกิดรอยแตกแยกได้ง่าย
  2. ใส่วัสดุปรับปรุงดินเพื่อทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้นไม่เกิดการอัดตัวแน่นได้ง่าย และรวมทั้งการป้องกันการสลายตัวของเม็ดดินที่มีอยู่แล้ว เช่น การใส่หินปูนบด หรือยิปซัม ฟอสโฟยิปซัมอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ หรือการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในรูปปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก เช่น มูลไก่แกลบ หรือแกลบดิบในอัตรา 1 ตันต่อไร่ โดยไถกลบวัสดุปรับปรุงดินเหล่านี้ให้ลึกกว่าปกติ
  3. ปลูกพืชทำลายชั้นดาน พืชหลายชนิดมีระบบรากที่แข็งแรง สามารถเติบโตไชชอนผ่านชั้นดานที่พืชทั่วไปไม่สามารถทำได้ พืชเหล่านี้ได้แก่ หญ้าบาเฮีย (bahiagrass) หญ้าแฝก (vetiver Grass)
  4. ควบคุมความชื้นดิน ชั้นดานในดินล่างจะแข็งจนกระทั่งเป็นอุปสรรคต่อการแพร่กระจายของรากพืชก็ต่อเมื่อแห้งถึงระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อมีความชื้นพอเหมาะรากพืชทั่วไปก็สามารถไชชอนเข้าไปในชั้นดานได้มากขึ้น ดังนั้น การรักษาความชื้นในดินชั้นดานให้พอเหมาะจึงสามารถลดผลกระทบของชั้นดานต่อการแพร่กระจายของรากพืชได้ระดับหนึ่ง การควบคุมความชื้นให้พอเหมาะนี้กระทำได้เฉพาะในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานที่ดีเท่านั้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้ปัญหาที่พืชจะขาดแคลนน้ำ โดยเหตุที่รากพืชถูกจำกัดด้วยชั้นดานก็มีปัญหาอยู่แล้ว การส่งเสริมให้รากพืชแพร่กระจายลงในชั้นดานโดยการควบคุมความชื้นของชั้นดานให้เหมาะสมจึงเป็นการส่งเสริมให้พืชได้ใช้ประโยชน์จากธาตุอาหารพืชในดินชั้นดานและใต้ดาน

ดินมีความจุในการกักเก็บธาตุอาหารและความชื้นต่ำ

พบมากในกลุ่มดินเนื้อหยาบ ได้แก่ ดินทราย ดินทรายปนดินร่วน ดินร่วนปนทราย และดินที่มีการปลูกมันสำปะหลังต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือดินที่มีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำ ทำให้ความสามารถในการดูดซับธาตุอาหารและแลกเปลี่ยนธาตุอาหารต่ำมาก เมื่อมีการใส่ปุ๋ยเคมีลงไปทำให้เกิดการสูญเสียไปจากดินได้ง่าย ทำให้การตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมีน้อย นอกจากนี้ดินทรายยังมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ และเก็บน้ำไว้ไม่อยู่ง่ายต่อการขาดแคลนความชื้น ทำให้การเจริญเติบโตไม่ดีและให้ผลผลิตน้อยกว่าดินปกติ

วิธีการแก้ปัญหา

  1. ควรไถกลบตอซังและวัชพืชทุกครั้ง การปรับปรุงดินทำได้โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์จำพวกปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก เช่น มูลไก่แกลบ เพื่อหวังผลในระยะยาวอย่างยั่งยืน
  2. การปรับปรุงดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปลูกพืชตระกูลถั่ว แล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด เพื่อเพิ่มความสามารถในการดูดซับธาตุอาหารพืชและความสามารถในการอุ้มน้ำแก่ดินปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินทำให้ดินมีการเกาะยึดตัวดีขึ้น
  3. การอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมปลูกพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การใช้วัสดุคลุมดินเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำและรักษาความชื้นไว้ในดิน
  4. การจัดการน้ำที่เหมาะสมเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เช่น การให้น้ำแบบหยด เป็นต้น หรือขุดสระเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงที่พืชขาดน้ำ
  5. การใช้ปุ๋ยเคมีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมากและมีปริมาณธาตุอาหารพืชไม่เพียงพอ ควรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยตามความเหมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมีที่ละลายช้าแบ่งใส่ครั้งละน้อยๆ เป็นระยะใส่ในขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสมและควรใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์หรือใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน