ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง"
(สร้างหน้าด้วย "มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่ง...") |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:32, 30 มิถุนายน 2564
มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก ในปี 2556 มีการส่งออกในรูปมันเส้นและมันอัดเม็ดประมาณ 3 ล้านตัน และส่งออกในรูปแป้งมันสำปะหลังประมาณ 1.32 ล้านตัน โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมมากกว่า 50,000 ล้านบาท พื้นที่ผลิตมันสำปะหลังของประเทศไทยประมาณ 6.52 ล้านไร่ กระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ คิดเป็น 54.74 31.74 และ 13.52 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดตามลำดับ ได้ผลผลิตรวมประมาณ 30 ล้านตันหัวมันสด (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2556)
ระบบการผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรโดยทั่วไป ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ๆ หลายขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการเตรียมดิน การปลูก การบำรุงรักษา การจัดการวัชพืช การจัดการด้านโรค-แมลง การเก็บเกี่ยว และรวบรวมหัวมันขึ้นรถบรรทุก ซึ่งเกษตรกรจะนำเครื่องมือจักรกลเกษตรเข้ามาช่วยดำเนินการในบางขั้นตอน แต่โดยทั่วไปยังคงใช้แรงงานคนทำงานเป็นหลัก ขั้นตอนเก็บเกี่ยวและรวบรวมหัวมันขึ้นรถบรรทุกเป็นขั้นตอนที่ใช้แรงงานมากที่สุด โดยมีค่าเท่ากับ 54.5 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด และยังพบว่าค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานมีมูลค่าถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด (Sukra, 1996)
เนื่องจากภายหลังการเก็บเกี่ยว จำเป็นต้องลำเลียงหัวมันสดออกจากแปลงเพื่อนำไปส่งยังโรงงานแปรรูปภายในวันเดียวกันให้หมด มิฉะนั้นหัวมันสดที่มีความชื้นสูงจะเกิดการเสื่อมสภาพและทำให้ปริมาณแป้งลดลงซึ่งมีผลต่อราคารับซื้อหัวมันสด ดังนั้นเพื่อประหยัดค่าขนส่ง เกษตรกรจึงพยายามเก็บเกี่ยวในแต่ละวันให้ได้ปริมาณหัวมันเต็มรถบรรทุก ซึ่งรถบรรทุกที่เกษตรกรจัดหาได้มักมีขนาด 6-9 ตัน ทำให้เกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวประมาณ 2-4 ไร่ต่อวัน ซึ่งหมายถึงเกษตรต้องจัดการให้มีการขุด 2-4 ไร่ต่อวัน จากนั้นจึงรวมกอง ตัดเหง้า และขนขึ้นรถบรรทุก ให้เสร็จสิ้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน
ดังนั้น การนำกำลังงานจากเครื่องจักรกลเกษตรเข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคนในการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง จึงเป็นทางเลือกสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวได้ ปัจจุบันพบว่ามีการนำเครื่องมือจักรกลเกษตรเข้ามาใช้ในกระบวนการปลูกและการเก็บเกี่ยว เนื่องจากปัญหาเรื่องต้นทุนในการจ้างแรงงานในภาคการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้น (มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย, 2547)
จากผลการศึกษารูปแบบการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในปัจจุบัน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยเก็บข้อมูล อัตราการทำงานและความต้องการแรงงานของกระบวนการ ดังแสดงไว้ในตาราง 1 โดยจากตารางพบว่าอัตราการทำงานของกระบวนการเก็บเกี่ยวรวมทั้งกระบวนการ คือ 2.61 ไร่/คน-ชั่วโมง และมีความต้องการแรงงาน คือ 11.3 คน-ชั่วโมง/ไร่ โดยการดำเนินงานภายหลังการเก็บเกี่ยว มีความต้องการแรงงานมากที่สุด และใช้เวลาในการทำงานสูงที่สุด (ชัยยันต์ และเสรี, 2556)
การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษา
โดยทั่วไปมันสําปะหลังภายหลังการเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นหัวมันสดจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบ 60-65 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ดังนั้นจึงมีอัตราการเสื่อมคุณภาพที่รวดเร็วมากโดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนชื้น อย่างเช่นประเทศไทย ซึ่งลักษณะการเสื่อมคุณภาพที่ปรากฏให้เห็นในช่วง 3 วันภายหลังการเก็บเกี่ยวเป็นการเสื่อมคุณภาพทางสรีระวิทยา (Physiological Deterioration) โดยสีของเนื้อมันสําปะหลังเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือฟ้าเงินปนดํา หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันลดลง ส่งผลกระทบต่อราคาขาย หลังจากนั้นหัวมันจะเริ่มเน่า ซึ่งเป็นการเสื่อมคุณภาพเนื่องจากการเข้าทําลายของจุลินทรีย์ (กรมวิชาการเกษตร, 2537)
การเก็บเกี่ยวมันสําปะหลังประกอบด้วยกิจกรรมหลายขั้นตอน คือขั้นตอนการขุดมันสําปะหลังขึ้นจากพื้นดิน ขั้นตอนการรวมกองและตัดเหง้า และขั้นตอนการขนย้ายหัวมันขึ้นรถบรรทุก ซึ่งโดยทั่วไปขั้นตอนการขุดมันสําปะหลังเป็นขั้นตอนที่ใช้กําลังงานมากที่สุดและใช้เวลามากที่สุดเนื่องจากฤดูเก็บเกี่ยวมัสําปะหลังตรงกับฤดูแล้ง ทําให้ดินค่อนข้างแข็งโดยเฉพาะในเดือน ม.ค. - เม.ย. แม้ว่าปัจจุบันจะมีการนําเครื่อง/อุปกรณ์ขุดมันสําปะหลังซึ่งใช้รถแทรกเตอร์สี่ล้อเป็นต้นกําลัง มาช่วยงานเก็บเกี่ยวมันสําปะหลังแต่ไม่พบการใช้งานเครื่อง/อุปกรณ์ขุดมันสําปะหลังซึ่งใช้รถไถเดินตามเป็นต้นกําลัง (เสรี, 2551)
ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 8-12 เดือน แต่อายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมคือ 12 เดือนหลังปลูก และไม่ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนตกชุก เนื่องจากหัวมันสำปะหลังจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ (กรมวิชาการเกษตร, 2547)
อายุของต้นมันสำปะหลังก่อนเก็บเกี่ยว
มันสำปะหลังเป็นพืชอายุยาว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อใดก็ได้ ผลผลิตหัวสดจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่มันสำปะหลังได้รับ ในขณะที่ปริมาณแป้งในหัวของทุกพันธุ์จะสามารถวัดได้ตั้งแต่เดือนที่ 4 หลังปลูก สำหรับประเทศไทยเกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่อายุ 9-12 เดือน อย่างไรก็ตามอายุที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวจะขึ้นกับพันธุ์ที่ใช้ปลูกด้วย
บุญเหลือ และคณะ (2549) ได้ศึกษาผลของอายุเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 7 ที่อายุ 8 10 12 14 และ 16 เดือนหลังปลูก พบว่าการเจริญเติบโตทางด้านความสูงที่อายุ 8 เดือนมีความสูงต่ำที่สุด ที่อายุ 12 14 และ 16 เดือนมีความสูงไม่แตกต่างกันและเมื่อนำข้อมูล 2 ปีที่ปลูกมาวิเคราะห์ความแปรปรวนพบว่าการเก็บเกี่ยวที่อายุตั้งแต่ 10-16 เดือน ไม่ทำให้ผลผลิตหัวสดแตกต่างกันทางสถิติ ซึ่งอยู่ระหว่าง 4,815-6,082 กก./ไร่ แต่การเก็บเกี่ยวที่อายุ 12 และ 14 เดือน เปอร์เซ็นต์แป้งสูงสุดและไม่แตกต่างกันทางสถิติคือ 32.1 และ33.6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน (ม.ป.ป.) อย่างไรก็ตามการเก็บเกี่ยวเมื่ออายุมากกว่า 12 เดือน จะมีผลทำให้น้ำหนักหัวมันสดมากกว่าการเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 12 เดือน แต่จะมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด และช่วยให้การปลูกในฤดูถัดไปอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมเก็บเกี่ยวเมื่อราคามันสำปะหลังสูง และนอกจากนี้เกษตรกรต้องคำนึงถึงความจำเป็นทางเศษฐกิจ ฤดูกาลแรงงานที่จะใช้เก็บเกี่ยวด้วย
การปลูกมันสำปะหลังกลางฤดูฝนถ้าเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 12 เดือน จะได้ผลผลิตต่ำเพียง 1-2 ตัน/ไร่ เนื่องจากต้นมันสำปะหลังได้รับปริมาณฝนน้อยไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและการสะสมอาหารได้น้อย (วุฒิศักดิ์ และคณะ, 2539) และเมื่อได้รับน้ำฝนมันสำปะหลังจะนำแป้งที่สะสมไว้ในหัวมาใช้สร้างต้นและใบใหม่ เมื่อเก็บเกี่ยวในช่วงต้นฤดูฝน ผลผลิตมันแห้ง และแป้งจะลดลง (โอภาษ และคณะ, 2543) ส่วนการปลูกมันสำปะหลังปลายฤดูฝนจะเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ได้ผลผลิตมันแห้งและแป้งสูง เพราะดินมความชื้นน้อย ทำให้หัวมันสำปะหลังมีน้ำน้อยลง จึงทำให้เปอร์เซ็นต์แป้งสูงขึ้น (วุฒิศักดิ์ และ คณะ, 2539) การปลูกมันสำปะหลังนอกฤดูฝน (พฤศจิกายน-เมษายน) ให้ผลผลิตต่ำกว่าการปลูกในช่วงฤดูฝนถึง 25 เปอร์เซ็นต์ (สมพงษ์, 2537)